มหาวิทยาลัยนเรศวรแถลงข่าวประจำเดือนมกราคม 2564 คณะแพทย์ ม.นเรศวร สร้างอนาคตสุขภาพด้านการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท (Telemedicine) แห่งแรกในประเทศไทยด้วยเครือข่าย 5G

(ดู 3,022 ครั้ง)

วันนี้ (12 ม.ค.64) เวลา 10.30 น. มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดงานแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำเดือน ณ ห้องเสลา 1 อาคารสำนักงานอธิการบดี โดยมีประเด็นการแถลงข่าว 3 เรื่อง ได้แก่ 1.คณะแพทยศาสตร์ ม.นเรศวร สร้างอนาคตสุขภาพด้านการแพทย์ทางไกลในชนบท (Telemedicine) ด้วยเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 5G แห่งแรกในประเทศไทย 2.นักวิจัยคณะเภสัชศาสตร์สร้างเครื่องมือ NU Spiro Breathe ตรวจการได้รับกลิ่นช่วยแยกโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 3.คณาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ พัฒนาเครื่องช่วยบริหารยาหยอดตาเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ COVID-19

ในการนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์บดินทร์ บุตรธรรม รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนานวัตกรรม และ อาจารย์นายแพทย์สุรัตน์ วรรณเลิศสกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ได้ร่วมกันแถลงข่าวในประเด็น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ล้ำหน้าสร้างอนาคตสุขภาพด้านการแพทย์ทางไกลในชนบท (Telemedicine) ด้วยเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 5G แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งได้เริ่มนำไปใช้แล้วกับ โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ และกำลังจะนำไปใช้กับโรงพยาบาลสุโขทัย  นับเป็นความสำเร็จที่ได้จากการลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร กับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited : NT) (เดิมคือบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก่อนควบรวมกิจการกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ตามมติคณะรัฐมนตรี

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า “ความห่างไกล และความขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในชนบท  การเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ไม่เท่าเทียมกัน เป็นโจทย์ใหญ่ที่เป็นแรงบันดาลใจให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรสร้างบริการทางการแพทย์ที่เรียกว่าTelemedicine หรือ การบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท”โดยนำการแพทย์ผนวกกับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงมาใช้เพื่อประโยชน์ต่อการให้คำปรึกษาทางไกลระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับบุคลากรทางการแพทย์ในชนบท ได้ร่วมมือรักษาผู้ป่วยได้แบบทุกที่ ทุกเวลา ทั้งนี้ได้นำร่องสำหรับกรณีผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะโรคหัวใจระหว่างโรงพยาบาลอุตรดิตถ์และกำลังจะนำไปใช้กับโรงพยาบาลสุโขทัย

Telemedicine การบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ได้แก่

1.Hololens คือ แว่นแสดงภาพ 3 มิติ ผนวกรวมความจริงกับความจริงเสมือนและโปรแกรมทางการแพทย์ โดยผู้สวมใส่ทั้งสองฝั่งจะมองเห็น ได้ยิน และเรียกดูข้อมูลจากแฟ้มผู้ป่วยได้ เสมือนกำลังนั่งตรวจคนไข้อยู่ในห้องเดียวกัน ทำให้การปรึกษาระหว่างอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับแพทย์ที่อยู่ห่างไกลในภาวะฉุกเฉินสามารถทำได้ทันที

2.Haptics เช่น Haptics for Echocardiogram คือ อุปกรณ์สำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการตรวจผู้ป่วยโรคหัวใจแม้อยู่ห่างไกลโดยสื่อสารกับแพทย์ที่อยู่หน้างานให้วางอุปกรณ์ตามคำแนะนำเพื่อหาสาเหตุของโรคหัวใจช่วยในการวางแผนการรักษาการตัดสินใจของแพทย์เจ้าของไข้ว่าจะต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลใหญ่หรือไม่ หากสามารถรักษาได้ก็จะทำให้ผู้ป่วยและครอบครัว ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่ในเขตเมือง คุณภาพชีวิตผู้ป่วยและครอบครัวก็จะไม่ลำบาก

นอกจากนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ยังได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้จัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพการให้บริการสุขภาพ รองรับการระบาดของโรค COVID-19

ระยะแรก ได้ปรับปรุงห้องผู้ป่วยเดิมให้เป็นห้องแรงดันลบ (Negative Pressure Room) โดยนำเทคโนโลยีไร้สาย IoT (Internet of things) มาใช้ในการบันทึกการวัดสัญญาณชีพ แบบทันที ต่อเนื่อง จากห้องผู้ป่วย พร้อมเชื่อมโยงกับระบบ Telemedicine เพื่อให้แพทย์ พยาบาลสามารถดูข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้แบบปัจจุบัน (Real time)

ระยะที่สอง พัฒนาระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับคัดกรองผู้ป่วย ณ คลินิกผู้ป่วยนอกและติดตามอาการผู้ป่วยที่แผนก ICU และ Cohort Ward โดยได้สร้างหอผู้ป่วยรวมชนิดแรงดันลบ (Cohort Ward)จำนวน 8 เตียง ที่หอผู้ป่วยชั้น 5 อาคารสิรินธร โดยจะเปิดให้บริการได้ในวันที่ 18 มกราคม 2564  เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัส และเพิ่มการรักษาระยะห่างระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย โดยยังคงให้การดูแลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ในการนี้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดสถานที่ให้บริการผู้ป่วยโรคโควิด-19 แบบ One Stop Service โดยเปิดคลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน/โรคหวัด หรือ ARI Clinic (Acute Respiratory Infection Clinic) ด้านหน้าอาคาร เพื่อลดความเสี่ยงในการเข้าปะปนกับผู้ป่วยอื่นในโรงพยาบาล

สำหรับประเด็นที่สอง เรื่อง นักวิจัยคณะเภสัชศาสตร์สร้างเครื่องมือ NU Spiro Breathe ตรวจการได้รับกลิ่นช่วยแยกโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ผู้แถลงข่าวได้แก่ ดร.ภก.ประยุทธ ภูวรัตนาวิวิธ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ เปิดเผยว่า “เครื่องมือประเมินการอุดตันของโพรงจมูก พัฒนาต่อยอดมาจากเครื่องมือ NU_spiroBreathe; NUB มีลักษณะเป็นทรงกระบอกและท่อยางสำหรับหายใจเข้าหรือออกทางจมูก เครื่องมือนี้มีความสามารถในการทำงานได้ถึง 3 ชนิด ได้แก่ 1.ใช้วัดปริมาตรและวัดแรงดันจากการหายใจเข้าและการหายใจออกได้  2.ใช้ประเมินการอุดตันของโพรงจมูกเพื่อประเมินความรุนแรงของภาวะจมูกอุดตัน หรือติดตามประสิทธิภาพการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มโรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ โรคหืด โรคริดสีดวงจมูก ฯลฯ 3.ประยุกต์ใช้ในการประเมินอาการได้กลิ่นลดลงซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ได้อีกด้วย  ปัจจุบันเครื่องมือดังกล่าวได้มีบริษัทมาซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำไปผลิตในอุตสาหกรรมทางการแพทย์คาดว่าประมาณเดือนกุมภาพันธ์ก็จะมีจำหน่ายในท้องตลาด

          ประเด็นที่สาม เรื่อง คณาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ พัฒนาเครื่องช่วยบริหารยาหยอดตาเพื่อลดความเสี่ยงการเชื้อ COVID-19 ผู้แถลงข่าวได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจนยุทธ ศรีหิรัญ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า คณะผู้วิจัย ซึ่งรวมถึง ดร.ภก.ประยุทธ ภูวรัตนาวิวิธ จากคณะเภสัชศาสตร์ ได้ออกแบบเครื่องมือโดยการระดมสมองจากสหสาขาวิชาชีพ ปะกอบด้วย จักษุแพทย์ ได้แก่ ผศ.พญ.จีราวัฒน์ สวัสดิวิทยะยง หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา และ อาจารย์นายแพทย์คณินท์ เหลืองสว่าง อาจารย์แพทย์ภาควิชาจักษุวิทยา ร่วมกันพัฒนาเครื่องช่วยบริหารยาหยอดตา Eye Drops Aids NU (EDANU) เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสของมือกับผิวหนังรอบดวงตา หรือดวงตา จึงช่วยลดโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อนจากมือผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถใช้เครื่องมือนี้ได้ถึงแม้จะมีมือเพียงข้างเดียว หรือมีปัญหาในเรื่องการมองเห็น เครื่องมือดังกล่าวจึงนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากมือได้ ปัจจุบันเครื่องมือดังกล่าวได้มีบริษัทมาซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำไปผลิตในอุตสาหกรรมทางการแพทย์คาดว่าประมาณเดือนกุมภาพันธ์ก็จะมีจำหน่ายในท้องตลาด

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ต้องขอขอบพระคุณมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ให้การสนับสนุนการวิจัยในทุกสาขา  ขอบพระคุณการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ที่ร่วมเป็นพลังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง5G ในการพัฒนาด้านการสาธารณสุข อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์  พัฒนาโจทย์วิจัย พัฒนากำลังคน การเรียนการสอน สร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และความมั่นคงในทุกมิติของประเทศไทยต่อไป” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ กล่าว

เพิ่มข้อมูลเมื่อ : อ. 12 ม.ค. 2564 เวลา 16.11 น.
โดย : นางสาวณัฐพร แก้วแดง

ประกาศ/คำสั่ง

มูลนิธิโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

คณะแพทยศาสตร์

มหาวิทยาลัยนเรศวร

เลขที่ 99 หมู่ 9 ตำบลท่าโพธิ์

อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

รหัสไปรษณีย์ 65000

โทรศัพท์ 0 5596 5666, 0 5596 5777

โทรสาร 0 5596 7927, 0 5596 5005

หมายเลขโทรศัพท์ภายใน


เพลงมาร์ช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร