กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ร่วมมือ มหาวิทยาลัยนเรศวร ขยายผลใช้แอปพลิเคชัน “หมอรู้จักคุณ” และ 6-value HPC Programs ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู ในโครงการ Pattani Model ที่จังหวัดปัตตานี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการผู้ป่วย
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การพัฒนาและการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศด้านสุขภาพ ระหว่าง กรมการแพทย์ โดยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยนายอภินันท์ นิลฉาย ผู้อำนวยการกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดปัตตานี โดยนายแพทย์อุดมเกียรติ พูลสวัสดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กับ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดยศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยทีมผู้วิจัย และผู้พัฒนาระบบ ได้แก่ศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล มุณีสว่าง คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย, ศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์, รองศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ แย้มเม่น คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์
ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ ถือว่าเป็นการต่อยอด ร่วมพัฒนางานวิจัย และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นจากฝีมือคนไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาผู้ป่วย และร่วมพัฒนาวงการแพทย์ของประเทศไทยให้ตอบรับกับนโยบายการแพทย์และสาธารณสุข 4.0 ในปัจจุบัน
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ ให้สัมภาษณ์ว่า “ในวันนี้ 3 หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาต่อยอดงานวิจัย นวัตกรรมทางการแพทย์ พัฒนาคุณภาพบริการทางไกลผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง โดยขยายผลการใช้งานแอปพลิเคชัน "หมอรู้จักคุณ" และ6-value HPC Programs ของมหาวิทยาลัยนเรศวร มาเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยบริการทุกระดับ รองรับการแพทย์และการสาธารณสุขวิถีใหม่ (New Normal Medical Services and Public Health) ในการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อไม่เรื้อรัง การฝากครรภ์ การส่งเสริมป้องกันโรค งานให้คำปรึกษา การรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสมรรถภาพตลอดช่วงชีวิต มีความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนนโยบายการแพทย์และสาธารณสุข 4.0 ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง นำระบบสารสนเทศมาใช้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ เป็นการสร้างวิถีการดูแลรักษาสุขภาพรูปแบบใหม่ควบคู่กับการให้คำปรึกษาแพทย์และสาธารณสุขทางไกล (Telemedicine, Telehealth) ส่งเสริมการทำงานเชิงรุกทีมหมอครอบครัวและอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลตลอดช่วงชีวิต เท่าเทียมแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ขอบคุณทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้นำแอปพลิเคชัน หมอรู้จักคุณ มาต่อยอดในการดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงบริการและได้รับการดูแลรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นการแพทย์และสาธารณสุขวิถีใหม่" ดร.สาธิต กล่าว
ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอรู้จักคุณ” สำหรับผู้ใช้ 4 กลุ่ม คือ แพทย์ พยาบาล อสม. และประชาชน มีการนำร่องใช้งานที่จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย จันทบุรี ตาก และยังมีโครงการพัฒนา 6-value HPC Programs ประกอบด้วย 6 โปรแกรมด้านอนามัยแม่และเด็ก ได้แก่ การเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์คุณภาพ การเตรียมคลอดคุณภาพ การคลอดคุณภาพ หลังคลอดคุณภาพ และเด็กไทยคุณภาพ นำร่องในเขตสุขภาพที่ 2 ซึ่งทั้ง 2 โครงการใช้ได้ผลดี และมีระบบที่สนับสนุนการทำงานของ อสม. ขยายผลสู่พื้นที่ New normal ต้นแบบของกรมการแพทย์ ในโครงการ Pattani Model ที่จังหวัดปัตตานี
.
แอปพลิเคชัน “หมอรู้จักคุณ” ประกอบด้วย 4 ช่อแงทางสำคัญเชื่อมบุคลากรทางการแพทย์ กับคนไข้ด้วยเทคโนโลยี ได้แก่
1. หมอรู้จักคุณแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (NU MED Application) เป็นเครื่องมือสำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สะดวก รวดเร็วและปลอดภัยในการตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วย
2. หมอรู้จักคุณประชาชน เป็นระบบการรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขผ่านสมาร์ทโฟนสำหรับประชาชน เน้นการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง แสดงข้อมูลการแพทย์ พร้อมข่าวสารจากคลินิกหมอครอบครัว มีช่องทางการขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน ด้วยการส่งตำแหน่งไปยังเจ้าหน้าที่ประจำคลินิกหมอครอบครัว และโทรติดต่อเบอร์ 1669 อัตโนมัติ รองรับการสื่อสารไปยังเจ้าหน้าที่ประจำคลินิกหมครอบครัว
3. หมอรู้จักคุณคลินิกหมอครอบครัว เป็นระบบด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคผ่านสมาร์ทโฟนสำหรับทีมแพทย์ ครอบครัว และพยาบาล อำนวยความสะดวกในการสำรวจ เก็บ/บันทึกข้อมูลการดูแลรักษาผู้ป่วยขณะลงพื้นที่สู่ระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล
4. หมอรู้จักคุณ อสม. เป็นระบบด้านส่งเสริมสุขภาพ ตรวจสอบข้อมูลสุขภาพของคนในชุมชน อำนวยความสะดวก อสม. ในการบันทึกข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย บันทึกข้อมูลรายงานประจำเดือน รับการแจ้งเตือนข่าวสารประชาสัมพันธ์จากส่วนกลาง แสดงข้อมูลคลังความรู้สำหรับ อสม. ตามโปรแกรมส่งเสริมการสร้างเด็กไทยคุณภาพ พร้อมช่องทางการสนทนาออนไลน์กับบุคลากรทางการแพทย์
.
ปัจจุบันแอปพลิเคชัน และเทคโนโลยีอื่น ๆ ในโครงการถูกนำไปใช้เชื่อมโยงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และเชื่อมคนไข้กับแพทย์ให้ใกล้กันมากขึ้นในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลศูนย์ กว่า 500 โรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย จันทบุรี ปัตตานี และทีมนักวิจัย และผู้พัฒนาระบบยังแผนขยายพื้นที่การใช้งานให้ครอบคลุมมากต่อไปขึ้นในอนาคต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
ขอบคุณภาพ และข้อมูล : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ สำนักงาน