คณบดีคณะแพทยศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิด DATA CENTER AND NETWORK OPERATION CENTER โรงพยาบาล มน.เฉลิมฉลองวาระ 27 ปีแห่งการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์



    คณบดีคณะแพทยศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิด DATA CENTER AND NETWORK OPERATION CENTER โรงพยาบาล มน.เฉลิมฉลองวาระ 27 ปีแห่งการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์

            เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 เวลา 13.30 น. เนื่องในวาระครบรอบ 27 ปี แห่งการก่อตั้ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2537 ทางคณะแพทยศาสตร์ ได้จัดให้มีพิธีเปิดหน่วยงานต่าง ๆ

    โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์บดินทร์ บุตรธรรม รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนานวัตกรรม พร้อมด้วยทีมผู้บริหาร และบุคลากรคณะแพทยศาสตร์ 

    รวมทั้งได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล มุณีสว่าง คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ แย้มเม่น คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นินนาท ราชประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ คุณธีรเชษฐ์ นันท์ศุภวัฒน์ CEO บริษัท ลานนาคอม จำกัด เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้

         1.ศูนย์ DATA CENTER AND NETWORK OPERATION CENTER

      ณ ชั้น 3 อาคารสิรินธร รพ.มน. โดยศูนย์ดังกล่าวได้ดำเนินงานจัดตั้งขึ้นตามยุทธศาสตร์ข้อที่  5 ได้แก่ IT Organization : ขับเคลื่อนองค์กรโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยการปรับใน 5 เรื่องหลักได้แก่ 1.สถานที่และโครงสร้าง 2.ระบบไฟฟ้า 3.ระบบทำความเย็น 4.ระบบป้องกันอัคคีภัย 5.ระบบรักษาความปลอดภัย 6.อุปกรณ์เครือข่าย 7.ระบบตรวจสอบความผิดปกติ รองรับการใช้งานทั้งระบบฐานข้อมูล, I MED, NU MED Application ระบบปฏิบัติการห้อง LAB ,X-Ray, ระบบสนับสนุนอื่นๆ ถือว่าทันสมัยที่สุดในปัจจุบันและยังรองรับอนาคตอีกด้วย

         2.WEB SITE www.med.nu.ac.th  “New version for NEW Normal”

         3.Cohort Ward with IoT หรือ หอผู้ป่วยรวมชนิดแรงดันลบ

              ณ หอผู้ป่วยพิเศษ ศัลยกรรม ชั้น 5 อาคารสิรินธร  โดยคณะแพทยศาสตร์ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้จัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพการให้บริการสุขภาพ รองรับการระบาดของโรค COVID-19

                 ระยะแรก ได้ปรับปรุงห้องผู้ป่วยเดิมให้เป็นห้องแรงดันลบ (Negative Pressure Room) โดยนำเทคโนโลยีไร้สาย IoT (Internet of things) มาใช้ในการบันทึกการวัดสัญญาณชีพ แบบทันที ต่อเนื่อง จากห้องผู้ป่วย พร้อมเชื่อมโยงกับระบบ Telemedicine เพื่อให้แพทย์ พยาบาลสามารถดูข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้แบบปัจจุบัน (Real time)

                 ระยะที่สอง พัฒนาระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับคัดกรองผู้ป่วย ณ คลินิกผู้ป่วยนอกและติดตามอาการผู้ป่วยที่แผนก ICU และ Cohort Ward โดยได้สร้างหอผู้ป่วยรวมชนิดแรงดันลบ (Cohort Ward)จำนวน 8 เตียง เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัส และเพิ่มการรักษาระยะห่างระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย โดยยังคงให้การดูแลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

           4.คลินิกโภชนาการ

              ณ บริเวณชั้น 1 อาคารสิรินธร เปิดบริการให้คำปรึกษาทางด้านโภชนาการสำหรับผู้ป่วยที่แพทย์ส่งตัวมาเพื่อให้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมด้านอาหารและโภชนาการที่ถูกต้องสอดคล้องกับโรคที่เป็นอยู่ รวมทั้งยังเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจด้านหลักโภชนาการที่จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน นำมาซึ่งความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายโดยเปิดให้บริการทุกวันจันทร์-วันศุกร์ตั้งแต่เวลา08.30-16.00 น.

     

    ด้วยความมุ่งมั่นตั้งแต่อดีตจนถึงวาระครบรอบ 27 ปี แห่งการก่อตั้ง คณะแพทยศาสตร์ที่

    จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 12 ของประเทศไทย มีความก้าวหน้าเป็นลำดับโดยสังเขปดังนี้

     ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นเครือข่ายร่วมผลิต 5 แห่ง ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก รพ.พุทธชินราชพิษณุโลก  รพ.อุตรดิตถ์  รพ.แพร่  รพ.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  รพ.พิจิตร และ รพ.มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาทางด้านวิชาการและบริการร่วมกัน

    มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในเขตความรับผิดชอบ 6 แห่ง  รพ.สต.ท่าโพธิ์  รพ.สต.ท่าทอง  รพ.สต.งิ้วงาม รพ.สต.วัดพริก รพ.สต.วังน้ำคู้ รพ.สต.เสาหิน

            มีศูนย์ความเป็นเลิศ 10 ศูนย์ ได้แก่ 1.ศูนย์โรคหัวใจ 2.ศูนย์วิจัยโลหิตวิทยา 3.ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา 4.ศูนย์เลสิก 5.ศูนย์ไต 6.ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก 7.ศูนย์ส่องกล้อง 8.ศูนย์มะเร็ง 9.ศูนย์รังสีรักษา 10.สถานรักษาแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยนเรศวร

            สร้างบัณฑิตแพทย์ออกไปรับใช้ประเทศแล้ว 20 รุ่น จำนวน 2,411 คน

            คณะแพทยศาสตร์ยังคงมุ่งมั่น ก้าวต่อไปเพื่อสร้างบัณฑิตแพทย์ที่มีคุณธรรม มีคุณภาพที่ดีถึงระดับสากล สร้างความเข้มแข็งของทีมสหสาขาวิชาชีพเพื่อส่งเสริม ป้องกัน รักษาผู้ป่วยให้เต็มกำลังความสามารถ และพร้อมเตรียมรับสถานการณ์โรคอุบัตใหม่ตลอดเวลา ภายใต้วิสัยทัศน์

            “โรงเรียนแพทย์ที่ใช้นวัตกรรม สร้างผู้นำด้านระบบสุขภาพ”

            “Innovative Medical School to Provide the Leader in Health System”


    เพิ่มข้อมูลเมื่อ : 19/01/2021 11:11 น.