Cohort Ward with IoT & MENU Delivery Robot หอผู้ป่วยรวมชนิดแรงดันลบ กับ น้องเมนู หุ่นยนต์เพื่อการติดตามอาการผู้ป่วย ช่วยขนส่งยา อาหาร และการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วย COVID-19



    ศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรเปิดเผยว่า “สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19  ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มมีห้องแรงดันลบ จะมากหรือน้อยแตกต่างกันไป  ในส่วนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร  ได้รับการสนับสนุนจาก   กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์ หรือสาธารณะ (กทปส.)  ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้จัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพการให้บริการสุขภาพ รองรับการระบาดของโรค COVID-19

    โรงพยาบาลจึงได้ได้ปรับปรุงห้องผู้ป่วยเดิมให้เป็นห้องแรงดันลบ หรือ Negative Pressure Room จำนวน 8 เตียง ที่ชั้น 5 อาคารสิรินธร เรียกว่า Cohort Ward หรือ หอผู้ป่วยรวมชนิดแรงดันลบ เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2564  ซึ่งเป็นห้องที่สำคัญมากในกรณีที่ผู้ป่วยโควิดมีมากขึ้น เราจำเป็นต้องแยกโรค แยกผู้ป่วย ห้องแรงดันลบมีหลักการทำงานก็คือ ในห้องจะมีการดึงอากาศเพื่อให้เกิดแรงดันลบ อากาศเสียที่มีเชื้อปะปนอยู่ก็จะผ่าน   HEPA Filter เพื่อส่งออกไปข้างนอก ก็จะกลายเป็นอากาศบริสุทธิ์ แล้วนำอากาศใหม่อากาศบริสุทธิ์ผ่าน HEPA Filter เข้าไปแทน ก็จะทำการรักษาในห้องนี้จนกว่าผู้ป่วยจะหาย ทำให้ไม่มีการแพร่กระจายของเชื้อออกไปสู่ข้างนอก ห้องนี้ยังสามารถใช้กับผู้ป่วยอื่น เช่น  วัณโรค ได้อีกด้วย

    นอกจากนั้นได้นำเทคโนโลยีไร้สาย IoT (Internet of things) มาใช้ในการบันทึกการวัดสัญญาณชีพ แบบทันที ต่อเนื่อง จากห้องผู้ป่วย พร้อมเชื่อมโยงกับระบบ Telemedicine เพื่อให้แพทย์ พยาบาลสามารถดูข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้แบบปัจจุบัน (Real time) ห้องแรงดันลบของเราก็จะพิเศษกว่าที่อื่น ข้อแรก คือด้านกายภาพของห้อง เช่น ความชื้น อุณหภูมิ แรงดันของอากาศภายในห้อง ต่าง ๆ จะถูกควบคุมด้วยระบบ Remote Control Room หมายความว่า แพทย์ พยาบาล หากไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ต้องเข้าไปในห้องเพราะว่า Sensor ถูกติดตั้งเพื่อให้เราทราบสภาพของห้องว่ามีความชื้นเท่าไหร่ อุณหภูมิเท่าไหร่ และแรงดันเป็นเท่าไหร่ ข้อสอง คือ อุปกรณ์ที่มี Sensor ติดอยู่กับตัวคนไข้ในห้อง คอยวัดสัญญาณชีพต่าง ๆ เช่น ความดันของคนไข้เท่าไหร่ อุณหภูมิเท่าไหร่ หายใจเป็นอย่างไร ชีพจรเป็นอย่างไร Oxygen ในเลือดเป็นอย่างไร รวมถึงเรื่องของการติดอุปกรณ์ที่ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างนี้เป็นต้น  เพราะฉะนั้นเราก็ Monitor อยู่ข้างนอกได้เลยโดยที่ไม่ต้องเข้าไปตรวจบ่อย ๆ ไม่ต้องให้บุคลากรต้องสวมชุด PPE ลดความเสี่ยงการสัมผัส เพิ่มการรักษาระยะห่างระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่าย โดยยังคงให้การดูแลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

    ล่าสุดโรงพยาบาลได้ผนวกนวัตกรรม MENU Delivery Robot หรือ  น้องเมนู หุ่นยนต์เพื่อการขนส่งและการสื่อสารทางไกล (MENU ย่อมาจาก Medicine + Engineer + Naresuan University) เป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติคอยติดตามอาการผู้ป่วย และเรื่องการให้บริการดีขึ้นด้วย เช่น การส่งอาหาร การส่งยา หรือการพูดคุยกับผู้ป่วยแบบที่เห็นหน้ากัน เราก็ใช้หุ่นยนต์เป็นตัวเชื่อมตัว ลดการสัมผัสระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยลงไปอีก ทำให้ผู้ป่วยพึงพอใจ มีโอกาสพูดคุยกับคนอื่นบ้างเพราะว่าถ้าเป็นกรณีที่เป็น COVID–19 แล้วก็อยู่ในห้อง เราจะไม่ให้ไปสัมผัสกับใครเลย อุณหภูมิในห้องก็อยู่ได้แบบสบายประมาณ  25 องศาเซลเซียส

    นวัตกรรมทั้งสามส่วนที่บูรณาการร่วมกันนี้ มาจากการค้นคว้าวิจัยเก็บข้อมูลจากปัญหาที่เราพบว่า ถ้าเป็นห้องแรงดันลบธรรมดาก็สามารถดูแลผู้ป่วยได้ระดับหนึ่ง แต่พอเราผนวกเอา Internet of Thing,  Robot และงานวิจัยเข้าไปด้วย โดยทำงานร่วมกันกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงเป็นต้นแบบ ณ ขณะนี้เราถ่ายทอดเทคโนโลยีรูปแบบนี้ไปยังโรงพยาบาล 20 แห่ง ทั่วประเทศ เช่น คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช โรงพยาบาลอุตรดิตถ์เป็นต้น ทางทีมทำงานและทีมวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ยินดีอย่างยิ่งที่จะกระจายองค์ความรู้เหล่านี้ออกไปโดยที่ไม่คิดมูลค่า เพราะเราได้รับการสนับสนุนจาก กทปส. และ กสทช. และทีมนักวิจัยของ มน. ทำให้หากคนไทยผลิตได้เองต้นทุนจะต่ำกว่าจ้างเอกชนหรือนำเข้าจากต่างประเทศมากครับ” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม  ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์กล่าว


    เพิ่มข้อมูลเมื่อ : 11/02/2021 15:05 น.