รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน (Biosafety Mobile Unit) สายธารพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ถึง นิสิต บุคลากร และประชาชนรอบ ม.นเรศวร



    วันนี้ (13 เมษายน 2564) เวลา 09.00 น. รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน  (Biosafety Mobile Unit)   จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก  จำนวน 1 คัน เข้าปฏิบัติการเก็บสิ่งส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ประชาชน นิสิต และบุคลากร มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันผลการตรวจเป็นบวกแล้ว    

    ในการนี้ นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร   พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงรสสุคนธ์ คชรัตน์ รองคณบดีฝ่ายการแพทย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์บดินทร์ บุตรธรรม รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนานวัตกรรม ให้การต้อนรับ

    ศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ กล่าวว่า “สำหรับวัตถุประสงค์ในการตรวจครั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่กระจายของโรคที่มีการระบาดในพื้นที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งประกอบด้วยนิสิต บุคลากร และประชาชน ที่อยู่รวมกันเป็นจำนวนมากไม่ให้แพร่กระจายไปสู่วงกว้าง โดยมีเจ้าหน้าที่จาก สคร.2 พิษณุโลก เข้าเก็บสิ่งส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ประชาชน นิสิตและบุคลากร มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันผลการตรวจเป็นบวกแล้ว โดยรถพระราชทานสามารถตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงได้ถึง 300-500 คนต่อวัน โดยจะตรวจระหว่างวันที่ 13 – 14 เมษายน 2564 ยอดรวมที่จะสามารถให้บริการตรวจได้ประมาณ 600 – 1,000 คน”

    สำหรับกลุ่มเป้าหมายในการตรวจครั้งนี้ ได้แก่ บุคคลกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับการคัดกรองจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร (คลินิก 99) จำนวน 160 คน ประชาชนที่อาศัยในเขตตำบลท่าโพธิ์ ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันผลการตรวจเป็นบวกแล้ว นิสิต บุคลากร มหาวิทยาลัยนเรศวร  ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันผลการตรวจเป็นบวกแล้ว ทั้งนี้ผลการตรวจจะใช้เวลา 1 วัน  นับจากที่ได้ทำการเก็บสิ่งส่งตรวจ กรณีผลเป็นบวกจะแจ้งไปที่บุคคลคนนั้น ส่วนผลที่เป็นลบจะไม่ได้แจ้งให้ทราบ อย่างไรก็ตามแม้ไม่ได้รับแจ้งผลแต่หากยังมีความเสี่ยงจากประวัติมีการสัมผัสผู้ติดเชื้อ ก็ควรกักตัวให้ครบ 14 วัน นับจากวันที่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ

    การตรวจครั้งนี้คาดการณ์ว่าจะพบผู้มีผลตรวจเป็นบวก ทางโรงพยาบาลจึงได้เตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามระยะแรก 20 เตียง ณ อาคารฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก รวมทั้งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้มาร่วมหารือในการวางระบบโลจิสติกส์และระบบการถ่ายเทอากาศ ซึ่งจะทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปตามมาตรฐานสากล

    ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงา​รังษี อธิการบดี ร่วมด้วยคณะแพทยศาสตร์ ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล บุคลากรทุกภาคส่วน ล้วนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ได้ทรงห่วงใยพสกนิกร และบุคลากรนำมาซึ่งกำลังใจในการทำงานเพื่อรับใช้ประเทศชาติต่อไป


    เพิ่มข้อมูลเมื่อ : 13/04/2021 15:07 น.