โรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยนเรศวร (Naresuan University Field Hospital) พร้อมรองรับผู้ป่วย 20 เตียง



        

          เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 เวลา 10.00 น. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงา​รังษี อธิการบดี  ศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์  รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยนเรศวร (Naresuan University Field Hospital) ณ บริเวณ ชั้น  1 อาคารฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยนเรศวร  (บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร)  อ.เมือง  จ.พิษณุโลก และให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT

            ศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้สัมภาษณ์ เปิดเผยว่า “ขณะนี้โรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยนเรศวร (Naresuan University Field Hospital) ณ บริเวณ ชั้น  1 อาคารฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยนเรศวร  (บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร)  อ.เมือง  จ.พิษณุโลก      มีความพร้อมรองรับผู้ป่วยจำนวน 20 เตียง แบ่งเป็นหอผู้ป่วย ชาย 10 คน หอผู้ป่วยหญิง 10 คน ภายในติดตั้งกล้องวงจรปิด มีห้องตรวจติดตามอาการผู้ป่วยกลาง (Central Patient Monitoring Station) มีสิ่งอำนวยความสะดวกพอเพียงสำหรับการดูแลผู้ป่วยที่ต้องอยู่ ณ โรงพยาบาลสนาม เป็นเวลาหลายวัน

    ในการรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร แบ่งได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่

       1.ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาที่หอผู้ป่วยรวมชนิดแรงดันลบ (Cohort Ward) ที่หอผู้ป่วยชั้น 5 อาคารสิรินธร โดยใช้ห้องแรงดันลบ (Negative Pressure Room) ซึ่งเรามี 8 ห้อง โดยนำเทคโนโลยีไร้สาย IoT (Internet of things) มาใช้ในการบันทึกการวัดสัญญาณชีพ แบบทันที ต่อเนื่อง จากห้องผู้ป่วย พร้อมเชื่อมโยงกับระบบ Telemedicine เพื่อให้แพทย์ พยาบาลสามารถดูข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้แบบปัจจุบัน (Real time) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)


       2.ผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม ได้แก่ ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง มีสัญญาณชีพปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ช่วยเหลือตัวเองได้ดี สื่อสารรู้เรื่อง ไม่มีปัญหาทางด้านจิตเวช


              ในส่วนการให้บริการปกติของโรงพยาบาลก็ยังดำเนินการอยู่ และได้จัดสถานที่ให้บริการผู้ป่วยโรคโควิด-19 แบบ One Stop Service โดยเปิดคลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน/โรคหวัด หรือ ARI Clinic (Acute Respiratory Infection Clinic) ด้านหน้าอาคาร เพื่อลดความเสี่ยงในการเข้าปะปนกับผู้ป่วยอื่นในโรงพยาบาล

              ทั้งนี้จะมีการงดให้บริการบางอย่างได้แก่  คลินิก Check Up  คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ จะปิดให้บริการตั้งแต่วันที่   19-30 เมษายน 2564  รวมทั้งการเลื่อนนัดตรวจคลินิกในเวลาราชการทางโรงพยาบาลจะโทรศัพท์ไปประเมินผู้ป่วยก่อนหากประเมินแล้วสามารถเลื่อนนัดได้ก็จะทำการเลื่อนนัด และมีการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ 

              สำหรับผู้ป่วยที่มีนัดหมายผ่าตัดไว้ แพทย์จะทำการโทรศัพท์ประเมินผู้ป่วยและพิจารณาหากไม่เร่งด่วนก็สามารถเลื่อนออกไปก่อนได้ ทางโรงพยาบาลจะงดผ่าตัด การทำหัตถการที่ไม่จำเป็น ยกเว้นรายที่จำเป็นเร่งด่วน ฉุกเฉิน โรงพยาบาลมีระเบียบปฏิบัติและขั้นตอนชัดเจน เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพไม่ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยที่จำเป็นเร่งด่วน”

    สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    1.คลินิก Check Up โทรศัพท์ 08 9641 1755
    2.คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ โทรศัพท์ 08 5555 2500
    3.การเลื่อนนัดตรวจคลินิกในเวลาราชการ โทรศัพท์ 0 5596 5666 และ 0 5596 5777
       (หรือเบอร์โทรศัพท์คลินิกต่าง ๆ ตามที่ระบุในบัตรนัดของผู้ป่วย)

    4.การเลื่อนการผ่าตัด โทรศัพท์ 0 5596 5168, 0 5596 5666 และ 0 5596 5777

    5.คลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน/โรคหวัด ARI Clinic (Acute Respiratory Infection Clinic)
        ให้บริการทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 08.00 น. - 16.00 น. โทรศัพท์ 0 5596 7835

    6.www.med.nu.ac.th
     

     


    เพิ่มข้อมูลเมื่อ : 16/04/2021 18:35 น.