NU Hospitel เปิดรับผู้ป่วย 26 เมษายนนี้ วันแรก
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานในพิธีเปิด โรงพยาบาลสนาม (NU Hospitel) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ รองอธิการบดี (กำกับดูแลงานกิจการนิสิต) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงรสสุคนธ์ คชรัตน์ รองคณบดีฝ่ายการแพทย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์บดินทร์ บุตรธรรม รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด้านงานอาคารสถานที่และผู้เกี่ยวข้องร่วมเป็นเกียรติ
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) รุนแรงในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งผู้พบผู้ติดเชื้อประกอบด้วย นิสิต บุคลากร และประชาชนทั่วไป จังหวัดพิษณุโลกจึงประสานความร่วมมือมายังมหาวิทยาลัยให้จัดโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอยู่จำนวนมาก รอคอยเตียงรักษา
ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยเหล่านั้นได้รับการรักษา อย่างทันท่วงที และรักษาชีวิตไว้ได้ ในการนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงปรับปรุงหอพักนิสิตในเฟสแรก จำนวน 132 เตียง โดยใช้ห้องพักในอาคาร 15 ซึ่งเป็นอาคารที่อยู่ด้านหลังสุดของหอพักนิสิต สามารถบริหารจัดการด้านการรับส่งผู้ป่วย ด้านการขนส่งสิ่งของ อาหาร และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สำหรับรองรับผู้ป่วยที่อาการดีดูแลตนเองได้ดี
ทำให้การวางระบบในทุกด้านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ให้เป็นโรงพยาบาลสนาม “NU Hospitel” ตามที่ นายพิศิษฐ์ กิจบุญอนันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นพ.อิ๊ดยังวัน ยงย่วน รองนายแพทย์สาธารสุขจังหวัด (ด้านเวชกรรมป้องกัน 1) นพ.รัฐภูมิ ชามพูนท รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (ด้านเวชกรรมป้องกัน 2) ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมโรงพยาบาลสนาม และได้แถลงข่าวร่วมกับ รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมโรงพยาบาลสนาม (NU Hospitel) ทั้งนี้การเปิดโรงพยาบาลสนามในมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ 22 แห่งทั่วประเทศนั้น และคณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ฯลฯ ก็ถือเป็นนโยบายหนึ่งที่ท่านรัฐมนตรี อว.ได้มอบให้แต่ละมหาวิทยาลัยได้ช่วยพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยรับผิดชอบอยู่
สำหรับความพร้อมของมหาวิทยาลัยนเรศวรในการดูแลนิสิต บุคลากร และประชาชน ในเขตพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย ทางมหาวิทยาลัยมีความพร้อมทุกด้าน โดยมีศักยภาพในการรองรับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ใน 3 ส่วน ได้แก่
1.หอผู้ป่วยรวมชนิดแรงดันลบ (Cohort Ward) ที่หอผู้ป่วยชั้น 5 อาคารสิรินธร โดยใช้ห้องแรงดันลบ (Negative Pressure Room) มีจำนวน 8 ห้อง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมากต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยนำเทคโนโลยีไร้สาย IoT (Internet of things) มาใช้ในการบันทึกการวัดสัญญาณชีพ แบบทันที ต่อเนื่อง จากห้องผู้ป่วย พร้อมเชื่อมโยงกับระบบ Telemedicine เพื่อให้แพทย์ พยาบาลสามารถดูข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้แบบปัจจุบัน (Real time) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
2.โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยนเรศวร (Naresuan University Field Hospital) ณ บริเวณ ชั้น 1 อาคารฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยนเรศวร (ด้านหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร) ซึ่งมีคุณภาพของห้องเกือบเทียบเท่าหอผู้ป่วยรวมชนิดแรงดันลบ (Cohort Ward) ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์มาช่วยออกแบบคุณสมบัติ และกำกับดูแลคุณภาพการก่อสร้าง สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวน 20 เตียง แบ่งเป็นหอผู้ป่วย ชาย 10 คน หอผู้ป่วยหญิง 10 คน ภายในติดตั้งกล้องวงจรปิด มีห้องตรวจติดตามอาการผู้ป่วยกลาง (Central Patient Monitoring Station) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคงที่
3.NU Hospitel มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับความร่วมมือจากจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงหอพักนิสิต จำนวน 1 หลัง สามารถรองรับได้ จำนวน 132 เตียง สำหรับผู้ป่วยที่อาการดี ในส่วนหอพักนี้เมื่อใช้งานแล้วเสร็จ จะมีการพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสำหรับนิสิตที่จะเข้าพักต่อไป