รพ.มน. ให้สัมภาษณ์ NBT พบผู้ป่วยโรคพยาธิปอดหนูขึ้นตา จักษุแพทย์เตือนทำให้ตาบอดได้ สาเหตุจากการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ



         วันนี้ (2 ก.พ. 2565) เวลา 9.50 น. ผศ.พญ.สิรินันท์ ตรียะเวชกุลจักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านจอตาและน้ำวุ้นตา รพ.มน. ให้สัมภาษณ์สดทางระบบ Zoom Meeting ณ ห้อง Telemedicine 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา 2 ในรายการห้องนั่งเล่า ช่วง “คุยให้เคลียร์” สถานีโทรทัศน์ NBT  โดยมีคุณภูผา  วัฒนาปรีดากุล และคุณสินีนาถ  ธนะไชย เป็นผู้ดำเนินรายการ

     

    จากการสัมภาษณ์ ผศ.พญ.สิรินันท์ ตรียะเวชกุลจักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านจอตาและน้ำวุ้นตา รพ.มน. ได้ให้ความรู้ว่า เบื้องต้นคนไข้มาโรงพยาบาลด้วยอาการตามัวลง 1 สัปดาห์ ครั้งแรกตรวจไม่พบพยาธิ  นัดมาอีก 3 อาทิตย์ พบว่าตามีอาการอักเสบ และพบพยาธิในน้ำวุ้นตา ทำการรักษาด้วยยาฆ่าพยาธิและยาลดการอักเสบ ร่วมกับการผ่าตัดนำตัวพยาธิออกจากดวงตา จากการตรวจหาชนิดของพยาธิ โดย รศ.ดร.อภิชาติ วิทย์ตะ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์  พบว่าเป็น พยาธิปอดหนู (Angiostrongylus cantonensis) ยาวประมาณ 0.5 ซม. สาเหตุที่พยาธิชนิดนี้ได้ชื่อว่าพยาธิปอดหนูเพราะ พยาธิตัวเต็มวัยทั้งสองเพศ จะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู พยาธิตัวเมียจะออกไข่ในหลอดเลือดแดงและฟักตัวเป็นตัวอ่อน ระยะที่ 1 ปนออกมากับมูลหนู เมื่อตัวอ่อนไชเข้าหอยทาก หรือ หอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง (หอยปัง) หอยขม หอยเชอรี่ กุ้งน้ำจืด ปลาน้ำจืดแล้วจะเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ ในระยะนี้หากคนรับประทานอาหารปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ พยาธิจะเข้าสู่ระบบ ประสาท เช่น สมอง ไขสันหลังหรือตา ฯลฯ  อาการเจ็บป่วยจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่พยาธิอยู่

    ในกรณีขึ้นตาทำให้เกิดอาการที่พบบ่อยคือตามัวลงแบบเฉียบพลันมักไม่ปวดหรือเคืองตา   จากการซักประวัติพบว่าผู้ป่วยมีประวัติกินกุ้งน้ำจืดสุก ๆ ดิบ ๆ”  ด้าน ผศ.พญ.สิรินันท์ ตรียะเวชกุล จักษุแพทย์เจ้าของไข้ กล่าวเพิ่มเติมว่า “มีรายงานพบผู้ป่วยพยาธิปอดหนูขึ้นตาครั้งแรกของโลกจาก ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2505  ทั่วโลกมีการรายงานไว้ไม่เกิน 50 ราย พบมากที่สุดในโลกเป็นผู้ป่วยจากภาคอีสาน รายงานโดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 18 ราย เนื่องจากอาการเบื้องต้นมักไม่เจ็บหรือปวด จะมีแค่อาการตาพร่ามัวข้างเดียวเท่านั้น การวินิจฉัยจึงจำเป็นต้องตรวจโดยจักษุแพทย์ ด้วยการตรวจความคมชัดของสายตา วัดความดันตา ตรวจตาอย่างละเอียด ด้วยกล้องสำหรับตรวจตา รวมถึงตรวจโดยการขยายม่านตาและมีการใช้เครื่องมือพิเศษต่าง ๆ ร่วมด้วยโรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยการกินยาฆ่าพยาธิและการผ่าตัดนำพยาธิออกจากดวงตา แต่มักมีการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร   การป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ถูกสุขลักษณะเสมอ”


    เพิ่มข้อมูลเมื่อ : 02/02/2022 16:59 น.