เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 10.09 น.ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารอเนกประสงค์ อุทยานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ในการนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและบุคลากรคณะแพทยศาสตร์ ได้เข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารอเนกประสงค์ อุทยานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร
โครงการ อุทยานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งอยู่บนพื้นที่ 79 ไร่ บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีวัตถุประสงค์สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงความรู้ นวัตกรรม และพัฒนาการการเรียนรู้ในทุกด้าน ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้ของโลก มีเทคโนโลยีแนวรักษ์โลก (Think Earth) รวมทั้งเป็นอาคารที่ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม (Eco-Architecture) การประหยัดพลังงาน นำประโยชน์จากพลังงานธรรมชาติมาหมุนเวียนใช้ในอาคาร และยังสะท้อนให้เห็นถึงต้นกำเนิดแห่งภูมิปัญญาเทคโนโลยีการก่อสร้างของมวลมนุษย์ชาติ ในด้านดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นอาคารในโลกอนาคต ปรัชญาแนวความคิดในการออกแบบวางผังสถาปัตยกรรมได้รับแรงบันดาลใจมาจาก วีรกรรมในการกอบกู้อิสระภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่มีต่อชาติไทย โดยใช้การอุปมา (Metaphor) ในการวางผังสถาปัตยกรรมสะท้อนให้เห็นถึงพระวิริยะอุตสาหะในสมรภูมิ การรบ การเดินทัพ การตั้งทัพ ท่ามกลางภูมิประเทศที่ลำบากเต็มไปด้วยอุปสรรคนานับประการจากป่าไม้ ภูเขา ลำน้ำ และไข้ป่า อาคารหลักแสดงการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ที่บ่งบอกถึงเวลาทรงรอคอยประกาศอิสรภาพ เป็นเวลานานถึง 13 ปี ณ พระราชวังจันทน์
โครงการอุทยานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นการจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้หรืออุทยานการเรียนรู้ 3 มิติ ในบริเวณพื้นที่หน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร 3 มิติ ได้แก่
มิติแห่งอดีต แสดงประวัติศาสตร์และพัฒนาการแห่งชาติไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงปกป้อง กอบกู้บ้านเมือง และแสดงขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของแผ่นดิน
มิติปัจจุบัน แสดงความพร้อมของพิษณุโลกในการเป็นเมืองบริการที่หลากหลายและจะทวีความสำคัญในอนาคตทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล
มิติแห่งอนาคต แสดงศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาในฐานะสมองของประเทศ การเป็นผู้นำด้านวิชาการและนวัตกรรมหลากหลายมิติ และการเตรียมพร้อมของทรัพยากรมนุษย์
พื้นที่อุทยานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ดังนี้
ส่วนที่ 1 “อุทยานมหาราช” ประกอบด้วย
-มณเฑียรนเรศวร อาคารในลักษณะอนุสรณ์สถาน ภายในประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขนาดใหญ่
-กำแพงเล่าเรื่อง เป็นภาพสลักนูนต่ำเล่าประวัติศาสตร์ พัฒนาการของชาติไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
-ศาลา 4 สมัย บอกเล่าเรื่องราวแต่ละยุคของยุคก่อนสุโขทัย เป็นต้น
ส่วนที่ 2 “ศูนย์ประชุมนเรศวรมหาราช” ประกอบด้วย
-อาคารชุดประชุม ประกอบด้วยห้องประชุมขนาดใหญ่ ความจุ 3,000-5,000 คน
-อาคารหรือโถงจัดแสดงนิทรรศการ เป็นต้น
ส่วนที่ 3 “อุทยานนวัตกรรม” ประกอบด้วย
-อาคารนวัตกรรม จัดแสดงองค์ความรู้ต่างๆ ผลงานวิจัยนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
-เวทีและลานอเนกประสงค์ เพื่อจัดแสดงดนตรี กีฬา และสันทนาการต่าง ๆ
ภาพถ่ายโดย : งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
แหล่งที่มา : http://www.indosat5.nu.ac.th/home.php