เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00 น. ผศ.พญ.พิริยา นฤขัตรพิชัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ เป็นประธานเปิด การประชุมวิชาการธาลัสซีเมีย ภาคเหนือตอนล่าง ครั้งที่ 19 เรื่อง “Non-invasive Prenatal Diagnosis for Thalassemia” โดยมี รศ.นพ.พีระพล วอง หัวหน้าศูนย์วิจัยโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุม CC2-802 ชั้น 8 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 2 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
การจัดการประชุมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศ.ดร.สาคร พรประเสริฐ คณบดี คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รศ.นพ.ชเนนทร์ วนาภิรักษ์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พญ.กัญจน์พรรณ สุคนธ์พันธุ์ แผนกสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลพุทธชินราช ผศ.พญ.พิริยา นฤขัตรพิชัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ รศ.นพ.พีระพล วอง หัวหน้าศูนย์วิจัยโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มาบรรยายให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมากระบวนการวินิจฉัยโรคของทารกในครรภ์มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก โรคที่เกิดขึ้นกับทารกสามารถให้การวินิจฉัยได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ การวินิจฉัยก่อนคลอดได้เปิดโอกาส ให้แพทย์ มารดา คู่สมรส และครอบครัวสามารถรู้ก่อนได้ว่าทารกในครรภ์จะเป็นโรคหรือไม่ วิวัฒนาการของศาสตร์ด้านนี้เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวินิจฉัยที่ประกอบไปด้วยสองส่วน หลักๆ ได้แก่การพัฒนาด้านเทคนิคทางสูติศาสตร์ และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการควบคู่กันไป เทคนิคที่ใช้กันแพร่หลายแบ่งเป็น 2 กลุ่มได้แก่ ชนิดรุกล้ำร่างกาย (invasive prenatal diagnosis) และชนิดไม่รุกล้ำร่างกาย (non invasive prenatal diagnosis) ซึ่งเป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของทารกในครรภ์ในพลาสมาของมารดา เพื่อตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ว่าเป็นโรคหรือไม่ ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้ารับการประชุมในการที่จะนำไปเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ ประสบการณ์ในการตรวจวินิจฉัยธาลัสซีเมีย เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยธาลัสซีเมียเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ