คณะแพทย์ มน. สัมภาษณ์ NBT North ช่วง “รวมใจคนไทยไม่ทิ้งกัน” ประเด็น "Stroke ภัยเงียบที่ต้องระวัง รักษาทันรอดอัมพาต" พร้อมเชิญชวนบริจาคเงิน และอุดหนุนของที่ระลึกเพื่อจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอล ให้กับ รพ.มน.



         เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์  2567 เวลา 14.00 น. ผศ.พญ.ชนิดา จันทร์ทิม รองคณบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล  ผศ.พญ.ดวงนภา รุ่งพิบูลโสภิษฐ์  แพทย์ภาควิชาอายุรศาสตร์โรคหลอดเลือดสมอง-ประสาทวิทยา  นพ.พีรศิลป์ โตวชิราภรณ์  แพทย์ภาควิชาศัลยศาสตร์   (ศัลยกรรมประสาท) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  สัมภาษณ์สด NBT North ช่วง “รวมใจคนไทยไม่ทิ้งกัน” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ แห่งประเทศไทย จังหวัดพิษณุโลก ( NBT) โดยมี คุณศิวพร  ดวงแก้วฝ่าย ดำเนินรายการ ประเด็น "Stroke ภัยเงียบที่ต้องระวัง รักษาทันรอดอัมพาต" พร้อมเชิญชวนบริจาคเงิน และอุดหนุนของที่ระลึกเพื่อจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอล (Biplane Digital Subtraction Angiography) ที่ให้กับ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ในโอกาสครบรอบ 30 ปี แห่งการก่อตั้ง คณะแพทยศาสตร์

          การสวนหลอดเลือดสมองมีความสำคัญอย่างไร กับคนไข้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง STROKE

         การรักษาปัจจุบันคือให้ยาสลายลิ่มเลือดแต่การให้ยาเข้าไปสลายเปิดเส้นเลือดที่อุดตันได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ถ้ามีการสวนหลอดเลือดเข้าไปใส่สายเข้าไปจะเปิดหลอดเลือดได้ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ แล้วไปดูดก้อนเลือดที่อุดตันออกมา ความสำเร็จในทางการรักษา หมายถึง การที่เลือดกลับไปเลี้ยงสมองได้ สมองไม่ตาย คนไข้ก็จะไม่มีความพิการเกิดขึ้น สามารถกลับไปทำงาน กลับไปใช้ชีวิตได้  

        ที่ผ่านมามีคนไข้ที่มารักษาที่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร มีข้อบ่งชี้ที่ต้องรักษาด้วยวิธีการเปิดหลอดเลือดแบบนี้โดยใช้เครื่องมือชนิดนี้ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรของเรายังไม่ได้ทำเพราะไม่มีเครื่องมือ เท่ากับคนไข้กลุ่มนี้ก็เสียโอกาสไปเพียงเพราะขาดเครื่องมือแพทย์ชนิดนี้ ทำให้ขาดโอกาสเปิดหลอดเลือดเพื่อเข้าไปทำการรักษา

       ตอนนี้เรามีหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองถึง 7 คน มีความพร้อมเป็น “ศูนย์รักษาโรคหลอดเลือดสมองครบวงจร หรือ Comprehensive STROKE Center ให้การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตลอด 24 ชม. 7 วัน   เราจึงต้องการผลักดันโอกาสการรักษานี้ให้แก่ผู้ป่วย   เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนในเขตนี้ เมื่อเป็นโรคนี้แล้วจะได้รับการรักษาที่ทันท่วงที มีคุณภาพ มีเทคโนโลยีที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

    การที่เรามีเครื่องมือนี้จะช่วยให้คนไข้มีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะรักษาโรคนี้หาย   พูดง่ายๆ คือ จากพิการกลายเป็นไม่พิการ  จากต้องตายอาจเป็นพิการเล็กน้อย  จากการต้องติดเตียงเป็นกลับไปทำงานได้เหมือนเดิม เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์นี้จะเพิ่มโอกาสในการรักษาที่มากขึ้น โอกาสหาย 80-90 เปอร์เซ็นต์  ถ้ามีเครื่องมือนี้จะทำให้พี่น้องประชาชนเขตนี้ ไม่ต้องเดินทางไปรักษาไกล เพราะระยะทาง ระยะเวลาสำคัญต่อการรักษาโรคนี้  อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตที่ต้องพักอยู่ที่โรงพยาบาลก็น้อยกว่าเมืองใหญ่มาก  ลองคิดว่าถ้าคนนั้นเป็น พ่อ แม่ ลูก ญาติ หรือเป็นแม้กระทั่งเป็นตัวเรา “แค่หนึ่งคนที่เราทุกคนสามารถช่วยเขาได้ มูลค่าการกลับมาทั้งทางกาย ทางจิตใจ และทางเศรษฐกิจ ก็ไม่สามารถประเมินได้”

    เครื่องนี้นอกจากจะรักษาโรคหลอดเลือดสมองได้แล้ว ยังสามารถรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย ด้วยศักยภาพของเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอล (Biplane Digital Subtraction Angiography) ที่สามารถถ่ายภาพหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน จึงช่วยให้แพทย์รักษาผู้ป่วยโดยการใส่สายสวนหลอดเลือดนาดเล็กให้ตรงจุดที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มโอกาสรอดชีวิตและกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติที่สุดได้

     


    เพิ่มข้อมูลเมื่อ : 16/02/2024 17:56 น.