คปอ.รพ.จัดโครงการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงจากการทำงาน
วันนี้ (7 ส.ค.2567) เวลา 08.45 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพิริยา นฤขัตรพิชัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานเปิดโครงการ ตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงจากการทำงาน กิจกรรมที่ 2 อบรมและประเมินสมรรถภาพทางกายให้กับบุคลากรในหน่วยงานที่มีความเสี่ยงด้านการยศาสตร์ ณ ห้องประชุมเอกาทศรถ 9 อาคารสิรินธร โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
โครงการดังกล่าวจัดโดยหน่วยอาชีวอนามัยและส่งเสริมสุขภาพนิสิตร่วมกับคณะกรรมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร มีวัตถุประสงค์เพื่ออบรมให้ความรู้เกี่ยวกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานและตรวจประเมินสมรรถภาพทางกายของโครงการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงจากการทำงานขึ้น นำความรู้เกี่ยวกับสมรรถภาพทางกายที่สัมพันธ์กับสุขภาพไปปรับใช้ และเพื่อให้บุคลากรทราบข้อมูลพื้นฐานด้านสมรรถภาพทางกายและเป็นข้อมูล ในการส่งเสริมด้านสุขภาพและป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรมหรืออาการผิดปกติทางระบบกระดูกโครงร่างและกล้ามเนื้อ ให้แก่บุคลากรของคณะ
เนื่องจากรายงานสถานการณ์การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเรื่องจากการทำงาน ปี 2562 – 2566 ของสำนักงานประกันสังคม พบว่าโรคที่เกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานที่มีจำนวนการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานสูงสุด 5 อันดับแรก คือ (1) โรคระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูกที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานฯ สูงสุด โดยเฉลี่ย 5 ปี มีลูกจ้างประสบอันตราย จำนวน 3,765 รายคิดเป็นร้อยละ 0.90 ต่อปี (2) โรคจากสาเหตุทางชีวภาพ มีลูกจ้างประสบอันตราย จำนวน 1,542 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.37 ต่อปี (3) โรคผิวหนังที่เกิดจากสาเหตุทางกายภาพเคมีหรือชีวภาพอื่น มีลูกจ้างประสบอันตราย จำนวน 375 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.09 ต่อปี (4) โรคจากแสงอัลตราไวโอเลต มีลูกจ้างประสบอันตราย จำนวน 124 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.03 ต่อปี และ (5) โรคหูตึงจากเสียงมีลูกจ้างประสบอันตราย จำนวน 57 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.01 ต่อปี (ที่มา : สำนักงานกองทุนทดแทน)
และจากการประเมินความเสี่่ยงทางสุขภาพและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทางด้านการยศาสตร์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายพยาธิวิทยาคลินิก และ Clerk ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ เมื่อเดือนมีนาคม และดือนมิถุนายน 2567 จำนวน 26 หน่วยงาน พบว่า ระดับความรุนแรงของอันตรายด้านการยศาสตร์ ที่มีระดับเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ (9 คะแนน) ได้แก่ (1) การออกแรงยก/เคลื่อนย้ายวัสดุสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก และ (2) การออกแรงยก/เคลื่อนย้ายของด้วยท่าทางบิดเบี้ยวตัว รองลงมาเป็นระดับเสี่ยงสูง (6 คะแนน) ได้แก่ (1) ยืน/นั่งทำงานอยู่กับที่ติดต่อกันเป็นเวลานาน (2) ท่าทางการทำงานแบบซ้ำ
กิจกรรมในโครงการประกอบด้วย
1) การตรวจประเมินตรวจสมรรถภาพทางกายของคนวัยทำงานพร้อมการแปลผลตรวจสมรรถภาพทางกายและให้คำแนะนำรายบุคคล โดย ผศ.ดร.อาพัทธ์ เตียวตระกูล ดร.ภัควัฒน์ เชิดพุทธ พร้อมด้วยนิสิตระดับปริญญาตรี หลักสูตร กศ.บ.พลศึกษาและวิทยาศาสตร์การออกกำลังกาย
2) การอบรมให้ความรู้โดยวิทยากร โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพล บุตรมี สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม และอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร
3) การสาธิตการออกกำลังกายในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือความผิดปกติทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ โดย หน่วยกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร