ม.นเรศวรขอเชิญฟังปาฐกถาพิเศษ“การต่อสู้ของประชาคมโลกต่อโรคติดเชื้อ” โดย Professor Bruce A. Beutler ผู้ได้รับรางวัลโนเบลปี 2011 มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ มูลนิธิสันติภาพนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัด โครงการสานความสัมพันธ์สู่วัฒนธรรมแห่งสันติภาพ ครั้งที่ 5 ประจำภูมิภาคอาเซียน ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ"การต่อสู้ของประชาคมโลกต่อโรคติดเชื้อ" โดย Professor Bruce A. Beutler ผู้ได้รับรางวัลโนเบลปี 2011 สาขาแพทยศาสตร์ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ The Center for the Genetics of Host Defense ณ University of Texas Southwestern Medical Center เมือง Dallas ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม (Hall A), ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ Professor Bruce A. Beutlerได้ค้นพบโปรตีนตัวรับในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อร่างกายมีการอักเสบขึ้น ตัวรับนี้จะกระตุ้นการทำงานให้มีการตอบโต้กับเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ การค้นพบนี้ได้ถ่ายทอดความรู้ไปสู่การพัฒนาระบบภูมิคุ้มกัน งานวิจัยของเขาได้ต่อยอดไปสู่การบำบัดโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบ ซึ่งเป็นการลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยโรคติดเชื้อนับล้านราย ที่สำคัญการค้นพบดังกล่าวยังเป็นการเปิดเส้นทางใหม่ในการป้องกันและการรักษาการติดเชื้อ ไข้หวัดอีโบลา และโรคมะเร็ง ขณะนี้อีโบลาไวรัส (ebola virus) กำลังเป็นที่จับตามองของแพทย์ทั่วโลก เนื่องจากมีรายงานการระบาดหนักในปีนี้ และได้คร่าชีวิตผู้ป่วยชาวแอฟริกันไปหลายร้อยราย เชื้ออีโบลาไวรัสเป็นไวรัสอันตรายที่ติดต่อในคนและในสัตว์และอาจทำให้ผู้ติดเชื้อนั้นเสียชีวิต โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 60-90% ในปัจจุบันก็ยังไม่มีทางรักษาและยังไม่มีวัคซีนป้องกัน (พญ.มาริษา พงศ์พฤฒิพันธ์. อีโบลาไวรัส...ไวรัสอันตรายที่ควรรู้.สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย: http://www.dst.or.th) ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า การรับมือของมนุษยชาติต่อโรคไข้หวัดอีโบลา โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ได้แพร่ระบาดอย่างรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต หรือแม้แต่คร่าชีวิตประชากรที่อยู่อย่างหนาแน่นในบางพื้นที่ ปัจจุบันมาตรการต่างๆ ได้รับการพัฒนาขึ้นตามลำดับเพื่อรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการจากการสาธารณสุข การรับวัคซีน และยาปฏิจุลชีวนะที่จะช่วยต่ออายุของมนุษยชาติได้ แต่น่าเสียดายที่ยังคงมีโรคติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นโรคที่อุบัติใหม่หรือโรคที่อุบัติซ้ำ เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโรคต่างๆ ก็มีวิวัฒนาการ เพื่อต่อกรกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และนี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เราจำเป็นต้องให้ความสนใจกับโรคติดเชื้อ พร้อมๆไปกับการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนเพื่อให้พวกเราทุกคนมีอายุที่ยืนยาวต่อไป มหาวิทยาลัยนเรศวรขอเชิญชวน นักวิจัยทางการแพทย์ แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการชั้นนำ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ ตลอดจนนิสิต/นักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ หรือผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการปาฐกถาพิเศษสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่กองพัฒนากิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยนเรศวร โทรศัพท์ 0 5596 2380-1, 0 5596 2398 www.peace-foundation.net หรือ www.nu.ac.th สามารถลงทะเบียนได้ที่ publicevents@nu.ac.th (พิเศษ ไม่มีค่าลงทะเบียน) ข่าว:พงศ์ภัทร์ ฟักฟูม นักประชาสัมพันธ์ |