โรงพยาบาล มน.กับคุณภาพการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน



         วันนี้ (20 ก.พ.58) เวลา 10.00 น.  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ (ช่อง9) โดยการประสานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีนโยบายสนับสนุนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานเด่นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในพื้นที่ สปสช.13 เขต ทั่วประเทศ

         นอกจากนี้ อาจารย์ นายแพทย์นนท์  โสวัณณะ หัวหน้าภาควิชาเวชครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ ผู้รับผิดชอบหลักด้านงานบริการปฐมภูมิ ได้พาเยี่ยมชมผู้ป่วยตัวอย่างในพื้นที่ เพื่อชี้ให้เห็นถึง “ระบบการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง” โดยกระบวนการสำคัญที่ได้สร้างขึ้นมา คือ “การเตรียมผู้ป่วย เตรียมครอบครัว เตรียมชุมชน และเตรียมทีมสหสาขาวิชาชีพ” ในพื้นที่

    ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ถือกำเนิดด้วยวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชนบท เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในเขตภาคเหนือตอนล่างและพื้นที่ต่างๆของประเทศ แม้ว่าปัจจุบันปัญหาความขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่จะลดลงแต่เป้าหมายของการผลิตแพทย์ให้สามารถทำงานในชุมชนได้ยังคงดำเนินต่อไป

             ช่วง 21 ปีที่ผ่านมา ชุมชน ในเขตภาคเหนือตอนล่างได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาดังเดิมคือการขาดแคลนแพทย์เปลี่ยนมาเป็นความซับซ้อนของปัญหาสุขภาพที่แพทย์มักเข้าไม่ถึง เช่นปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว การขาดแคลนผู้ดูแลคนป่วย โรคหรือความเจ็บป่วยที่มักไม่สามารถรักษาให้หายแต่กับรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างมาก

              ด้วยปัญหาดังกล่าว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ให้สามารถดูแลผู้ป่วยในชุมชนอีกทั้งเป็นต้นแบบในการเรียนรู้การทำงานในชุมชนให้กับนิสิตแพทย์และนิสิตทางวิทยาศาสตร์สุขภาพสาขาต่างๆ

    คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงวางบทบาทอาจารย์แพทย์ทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เป็นทั้งอาจารย์ผู้สอนด้านการทำงานในชุมชนกับนิสิตแพทย์และเป็นผู้นำด้านการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิในชุมชนทั้งในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลที่รับผิดชอบทั้ง 6 แห่ง


    เพิ่มข้อมูลเมื่อ : 20/02/2015 20:39 น.