คณะแพทย์ฯ ม.นเรศวร เดินหน้าปฏิรูปการสอน ดึงนวัตกรรมเรียนร่วมสหวิชาชีพ “IPE” เสริมหลักสูตร “แพทย์ 7 ดาว” สร้างบัณฑิตสุขภาพคุณภาพ คาดเริ่มใช้ปี 62



         เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2560  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การอนามัยโลก (WHO) และ เครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ (DHS) เขตภาคเหนือตอนล่าง จัดงานสัมมนา "เชื่อมสถาบัน สานเครือข่าย DHS Academy สู่ศตวรรษที่ 21" ภายใต้ โครงการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปบุคลากรด้านสุขภาพในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ตามแนวคิด เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) พร้อมเปิดตัวหลักสูตรผลิตแพทย์และบุคลากรสุขภาพแนวใหม่ ดึงนวัตกรรมการเรียนรู้แบบ “สหวิชาชีพ”  (Interprofessional Education : IPE) เข้าช่วยเสริมความเข้มแข็งให้หลักสูตร “แพทย์ 7 ดาว” (7Star Doctor) ของมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายเป็นการผลิตบัณฑิตแพทย์และบัณฑิตด้านสุขภาพ ให้มีคุณลักษณะและสมรรถนะสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2  ให้เกียรติบรรยายพิเศษในหัวข้อ “กำลังคนที่ตอบสนองต่อกลุ่มหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ Primary Care Cluster”

        รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ด้วยปณิธานที่ตั้งเป้าให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นสถาบันทางการแพทย์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยล่าสุดได้นำนวัตกรรมการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ หรือ IPE ซึ่งเป็นหนึ่งในการเรียนรู้แบบ Transformative Learning มาเสริมหลักสูตรผลิตแพทย์ 7 ดาว ซึ่งเดิมพัฒนามาจากหลักสูตรแพทย์ 5 ดาว (5 Star Doctor) ของ WHO เพราะเล็งเห็นว่ามีหลักคิดที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะในด้านการสร้างภาวะผู้นำในการปฏิบัติงานร่วมกัน การสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างวิชาชีพ รวมถึงการสื่อสาร ซึ่งจะเป็นกลไลช่วยผลิตบัณฑิตแพทย์และบัณฑิตด้านสุขภาพ ให้มีคุณลักษณะและสมรรถนะสอดรับกับความต้องการของทาง สธ. และสังคมไทยในอนาคต ส่วนรูปแบบการศึกษาแบบสหวิชาชีพ หรือ IPE เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาด้านสุขภาพและสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น พยาบาล เภสัชศาสตร์ สหเวชศาสตร์ ฯลฯ เข้าเรียนรู้ร่วมกันในชั้นเรียน เพื่อลดปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างวิชาชีพเมื่อต้องปฏิบัติงานจริง และเชื่อมโยงการทำงานด้านสุขภาพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพเพื่อสังคมไทยที่ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักสูตรและทดลองใช้ เบื้องต้นได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และคาดกว่าจะเปิดใช้จริงในปี 2562

         ในช่วงบ่ายได้มีพาผู้เข้าร่วมประชุมลงพื้นที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปลักแรด อำเภอบางระกำ และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังน้ำคู้ อำเภอเมือง  จังหวัดพิษณุโลก เพื่อศึกษาระบบการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพในการดูแลผู้สูงอายุในตำบล ทั้ง 2 แห่ง ที่ประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมกันของสหสาขาวิชาชีพและชาวบ้านในพื้นที่  จากนั้นมีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลังจากได้ลงพื้นที่ มีข้อเสนอแนะจากที่ประชุมอันเป็นประโยชน์ต่อระบบบริการสุขภาพและระบบบริหารจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสังคมในวันนี้และรองรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมในอนาคตอีกด้วย


    เพิ่มข้อมูลเมื่อ : 06/06/2017 12:33 น.