สามมหาวิทยาลัยหนึ่งเครือข่าย จับมือกันเร่งศึกษาวิจัยหาแนวทางดูแลผู้สูงอายุไทยกว่า 10 ล้านคน เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ



         ในเวลาอันใกล้นี้ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี) ดังจะเห็นได้จากผลการสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2557 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งหมด หรือคิดเป็น 10,014,699 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 12.2 ของประชากรทั้งหมด หรือในสัดส่วนการเพิ่มจากเดิมร้อยละ 22 ในระยะเวลา 3 ปี  

         ด้านการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะอาศัยอยู่ตามลำพังมากขึ้น จากผลการสำรวจปี 2557 มีผู้สูงอายุอยู่คนเดียวตามลำพังเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.4  เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 8.6 หรือในสัดส่วนการเพิ่มจากเดิมร้อยละ 21 ในระยะเวลา 3 ปีนอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอถึงร้อยละ 38.6  หรือประมาณ 3,865,674 คน  ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ แต่ก็ยังเป็นเงินจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และบางครั้งก็ไม่ถึงมือผู้สูงอายุ แต่ตกไปอยู่ในมือของลูกหลาน ผู้ดูแล

         จากผลการดำเนินงานโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเน้นการดูแลเฉพาะผู้สูงอายุติดเตียง  (โดยมีกลุ่มตัวอย่างจากทั่วประเทศ) พบว่า  จำนวนผู้สูงอายุติดเตียงที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมมีจำนวนมากเกินกว่าศักยภาพของชุมชนที่จะดูแล กลายเป็นภาระงานหนักของจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุ   ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยผู้สูงอายุในช่วงวัยทำงาน แต่กลับมีความคาดหวังสำหรับวัยสูงอายุของตนเองที่ไม่น่าจะเป็นจริงได้ เช่น หวังว่าลูกสาวที่ตนเองไม่เคยเลี้ยงดูเลยตั้งแต่ยังเล็กๆจะกลับมาเลี้ยงดูตนเองเมื่อตนเองเข้าสู่วัยสูงอายุ

         นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุในบางพื้นที่ของประเทศไทยกลับห่วงกังวลกับช่วงเวลาของการตายมากว่าขณะที่ยังมีชีวิต และเหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นมิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประชาชนทั่วๆไปเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับบรรดาข้าราชการบำนาญอีกด้วย ถึงขนาดที่ชีวิตบั้นปลายของอดีตข้าราชการระดับสูงบางคนต้องมาเก็บขยะหาเลี้ยงชีพในวัยสูงอายุ เป็นต้น

         ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า “คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ เครือข่ายพฤฒาวิทยาชุมชน ตระหนักถึงสถานการณ์ของสังคมไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุจึงจัดให้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือในการจัดประชุมวิชาการสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านสถานการณ์ คุณภาพชีวิต การเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ การดำเนินงานผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักถึงการเตรียมตัวเข้าสู่สภาวะผู้สูงอายุที่มีคุณภาพและการดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี  ให้แก่สังคม นักวิชาการ หาทางออกที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยที่จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ และเผยแพร่สู่สังคม โดยหวังว่าจะได้เป็นแนวนโยบายแห่งชาติต่อไป”

         ทั้งนี้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จะเป็นเจ้าภาพ  จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ การเริ่มต้นสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ หัวข้อ สถานการณ์คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทย 2558 (SITUATION OF THAI AGING SOCIETY IN THE YEAR 2015) ในวันที่ 10 – 11 สิงหาคม 2558 ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจอาทิ

         การตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ การจำลองสถานการณ์การเป็นผู้สูงอายุ การออกบูธจำหน่ายสินค้าทางการแพทย์เพื่อผู้สูงอายุ  รวมทั้งการบรรยายและอภิปรายเชิงวิชาการในหัวข้อต่างๆ อาทิ 1.การเตรียมความพร้อมสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  2.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุและผลกระทบต่อสังคมไทย  3.พฤฒาวิทยา (Overview of gerontology in Thai aging Society) 4.การอภิปรายประสบการณ์การดำเนินงานของ รพ.ระดับตติยภูมิ รพ.สต. รพ.ชุมชน อสม. ศูนย์ผู้สูงอายุ จิตอาสา ในลักษณะบูรณาการความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุในหลากหลายพื้นที่  เป็นต้น  รวมทั้งยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยในหัวข้อ ต่างๆ เช่น การเข้าถึงระบบบริการของผู้สูงอายุ การเตรียมตัวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ งานวิจัยสำหรับนิสิต นักศึกษาด้านผู้สูงอายุ อีกด้วย

    สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.med.nu.ac.th  หรือ โทรศัพท์หมายเลข 0 5596 7847 ในวันและเวลาราชการ


    เพิ่มข้อมูลเมื่อ : 29/05/2015 23:30 น.