วันนี้( 2 พฤศจิกายน 2560) เวลา 08.30 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานเปิดงานโครงการประชุมวิชาการประจำปีครั้งที่ 10 โดยสมาคมความพิการปากแหว่งเพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะแห่งประเทศไทย“Simplified Technology for Interdisciplinary Network of Cleft & Craniofacial care” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2560 โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรศิลป์ เชาวน์ชื่นนายกสมาคมความพิการปากแหว่งเพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะแห่งประเทศไทย กล่าวรายงาน พร้อมนี้ นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ให้เกียรติมากล่าวต้อนรับ ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก
การจัดการประชุมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิง เพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นองค์ปาฐกในปาฐกถาเกียรติยศ “ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับสุขภาพช่องปากของประชาชนชาวไทย”
ในโอกาสนี้ศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น ได้กล่าวสดุดีสมาชิกกิตติมศักดิ์และมอบโล่เกียรติยศ แด่ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิง เพ็ชรา เตชะกัมพุช กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การบรรยายวิชาการ โดยท่านวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 44 ท่าน จาก 15 สถาบันภาครัฐและภาคเอกชน การจัดนิทรรศการ ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยที่มีความพิการปากแหว่งเพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้าและ การประกวด Poster presentation
การประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยสมาคมความพิการปากแหว่งเพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะแห่งประเทศไทยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรและคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอีกหลายสถาบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และสหสาขาวิชาชีพ ที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วย มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้จากการวิจัยของผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัยรุ่นใหม่ เผยแพร่ชื่อเสียงของสถานรักษาแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร ให้เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของประชาชนในเขตภาคเหนือตอนล่าง ว่าเป็นศูนย์กลางการดูแลรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้าในเขตนี้ เพื่อให้มีการส่งต่อได้อย่างเหมาะสมต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลารับการรักษา โดยมีผู้เข้าร่วมจากสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ ศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ กุมารแพทย์ โสตศอนาสิกแพทย์ พยาบาล นักแก้ไขการพูดและภาษา นักสังคมสงเคราะห์ บุคลากรสายสนับสนุน และนิสิตจำนวน 300 คน จากสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศ