เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 เวลา 13.30 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และผศ.ทพ.ดร.อนุพันธ์ สิทธิโชคชัยวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมการประชุมนานาชาติ ระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลําไย เรื่อง “ภูดู่” ประตูแห่งมิตรภาพและโอกาส (Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor (LIMEC) International Conference “PhuDoo” Gate of Companionship and Opportunities ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 20 สิงหาคม 2558 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์
การประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยความร่วมมือจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 อันประกอบไปด้วย จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัด พิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดตาก และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้นำหลักของทั้ง 3 ประเทศ จำนวนกว่า 300 คน ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสภาอุตสาหกรรม หอการค้า สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ชมรมธนาคาร นักธุรกิจ นักลงทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์จุดผ่านแดน "ภูดู่" เส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงเศรษฐกิจ 3 ประเทศ ไทย ลาว เมียนมาร์ และกระตุ้นการเติบโต 5 ด้าน ได้แก่ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา สุขภาพ และโลจิสติกส์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเด็นหลักในการประชุมฯ มีการบรรยายโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ การเสวนาโอกาสทางธุรกิจ การพัฒนาและการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับโอกาสการค้าชายแดนไทย เมียร์มา และลาว พร้อมทั้งแบ่งกลุ่มการเสวนา 5 ห้องหลัก ได้แก่ โอกาส... แห่งการศึกษาไร้พรมแดน/ โอกาส... แห่งเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สามแผ่นดิน/ โอกาส... แห่งการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและส่งเสริมตลาดไมซ์ สามแผ่นดิน / โอกาส...แห่งสุขภาพดี สามแผ่นดิน และโอกาสแห่งโลจิสติกส์ เชื่อมโยงสามแผ่นดิน ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทันตแพทย์ ดร. อนุพันธ์ สิทธิโชคชัยวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ดำเนินรายการการเสวนาในหัวข้อ โอกาส...แห่งสุขภาพดี สามแผ่นดิน ซึ่งนับเป็นเวทีในการศึกษาความต้องการ ปัญหา อุปสรรคและแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อันจะส่งผลให้มิตรประเทศทั้ง 3 ประเทศ ได้รู้จัก เข้าใจ และใกล้ชิดกันมากขึ้น