โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์ เจาะกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเยาวชน และคนรุ่นใหม่ เดินหน้าให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เอช ไอ วี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 เวลา 13.00-16.00 น. อาจารย์ นายแพทย์สุรัตน์ วรรณเลิศสกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ โครงการอบรมการให้ความรู้การป้องกันการติดเชื้อเอช ไอ วี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทางด้านคลินิก โดยมี อาจารย์ธีรพัฒน์ ดีเทิดเกียรติ ผู้อำนวยการ โรงเรียนบางระกำวิทยศึกษาให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด และมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 400 คนเข้าร่วมกิจกรรม ณ โรงเรียนบางระกำวิทยศึกษา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
การจัดโครงการอบรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคเอช ไอ วี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการเข้าถึงยาต้านไวรัส เอช ไอ วี และโรคเอดส์ ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ได้รับรู้สถานการณ์การติดเชื้อเอช ไอ วี ในปัจจุบัน และหากต้องเข้ารับการรักษา ก็มีแนวทางเข้ารับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก ถูกต้อง รวดเร็ว กิจกรรมประกอบด้วยการบรรยายให้ความรู้ใน 3 หัวข้อ ได้แก่ 1.ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคเอช ไอ วี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 2.ทำไมต้องตรวจหาเชื้อเอช ไอ วี และบุคคลที่ต้องได้รับการตรวจ 3.วิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อเอช ไอ วี รวมทั้งกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ( work shop ) และตอบข้อซักถาม
แม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของประเทศไทยจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 7,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการแก้ปัญหานี้ แต่ที่ผ่านมากลับพบว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มชายรักชาย ถือว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงอันดับต้น ๆ และมีตัวเลขผู้ติดเชื้อมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ
จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงนำสู่กิจกรรมการสร้างความรู้และความเข้าใจเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ให้กับกลุ่มเยาวชน เพื่อให้รู้ถึงวิธีป้องกันตนเอง กระทั่งถึงการปฏิบัติตนที่ถูกต้องหลังจากได้รับเชื้อ รู้ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้ารับบริการตรวจรักษากับโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์ นำโดยนายแพทย์ สุรัตน์ วรรณเลิศสกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์ พยาบาล และบุคลากร ได้ลงพื้นที่จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้กับนักเรียนโรงเรียนบางระกำวิทยศึกษา โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมนำร่องเพื่อต่อยอดกิจกรรมอื่นๆ ในด้านการป้องกันและรับมือกับปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
อาจารย์ นายแพทย์สุรัตน์ วรรณเลิศสกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารฯ อาจารย์แพทย์เชี่ยวชาญสาขาโรคติดเชื้อ วิทยากรในโครงการบรรยายให้ความรู้ว่า “สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องโดยแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่เกิน 7,000 คน ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ ประมาณ 250,000-300,000 คน ซึ่งผลสำเร็จดังกล่าวมาจากการเข้าถึงการตรวจรักษา และการได้รับยาต้าน เอช ไอ วี ที่รวดเร็ว และการรู้จักป้องกันตนเองมากขึ้น
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงกังวลของประเทศไทยก็ยังมีอยู่ จากการศึกษาพบว่า กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15 - 24 ปี มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น จากสถิติอัตราผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งหมด พบว่าเป็นวัยรุ่นถึงร้อยละ 50 โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นกลุ่มชายรักชายจะมีสัดส่วนการติดเชื้อมากกว่ากลุ่มอื่นด้วย นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับสถิติการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่นด้วยเช่นกัน”
คุณเอื้อมพร โอฬารวงศ์ พยาบาลวิชาชีพ ทำหน้าที่ดูแลผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและขั้นตอนการเข้ารับการตรวจ เอช ไอ วี ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก จากงานที่ทำอยู่พบว่า ผู้ติดเชื้อหลายคนอายและกลัวเสียค่าใช้จ่ายที่จะเข้ามารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งตามสิทธิแล้วสามารถเข้ารับการตรวจรักษาแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง จำนวน 2 ครั้งต่อปี ต่อคน ซึ่งถ้าพบว่าติดเชื้อจะทำให้สามารถดำเนินการรักษาได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วต่อไป”
อีกหนึ่งความท้าทาย นอกจากการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้วัยรุ่น และคนในสังคมได้ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ เอช ไอ วี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งปัจจุบันถือว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป นั่นคือการสร้างทัศนคติเชิงบวกที่มีต่อผู้ติดเชื้อ ให้กับสังคม เพื่อให้ผู้ติดเชื้อสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างคนปกติ รวมถึงให้ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงได้ตัดสินใจเข้ารับการตรวจรักษา โดยทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องก็กำลังเร่งสร้างความเข้าใจใหม่นี้ให้กับสังคม ตลอดจนพัฒนารูปแบบการดำเนินงานการรักษา ให้สอดคล้องกับกลุ่มประชากร กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ต่อไป
วราชัย ชูสิงห์ ภาพ/ข่าว