สปสช. ร่วมกับ เขตสุขภาพที่ 2 และ คณะแพทย์มน. แถลงข่าว ส่งเสริมคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ กลุ่มเสี่ยง 50-70 ปี “ตรวจพบเร็ว รักษาทัน”



         วันนี้ (21 มิ.ย.61) เวลา 09.00 น. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เขต 2 พิษณุโลก ร่วมกับ เขตสุขภาพที่ 2 คณะทำงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขามะเร็ง และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดแถลงข่าวโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง เขตสุขภาพที่ 2 ปีงบประมาณ 2561 โดยมี นพ.ศุภกิจ  ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่2 พร้อมด้วย นพ.ภูวนนท์  เอี่ยมจันทน์  ผู้อำนวยการ สปสช.เขต2 พิษณุโลก  นพ.ทรงวุฒิ  ทรัพย์ทวีสิน  ประธานคณะทำงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขามะเร็ง  และ รศ.นพ.ศิริเกษม  ศิริลักษณ์  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  ร่วมกันแถลงข่าวความร่วมมือดำเนินโครงการ  ณ โรงแรมภัทรา รีสอร์ทแอนด์สปา จ.พิษณุโลก โดยมี พล.ต.ท.วสันต์ วัสสานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพ เขต 2 พิษณุโลก นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ร่วมให้เกียรติเป็นสักขีพยานในครั้งนี้

         รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ เปิดเผยว่า “ข้อมูลจากการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยใช้เวลาในระยะตั้งแต่เริ่มพบอาการผิดปกติจนมาถึงแพทย์เพื่อรับการรักษามีค่าเฉลี่ยที่ 60 วัน เกี่ยวข้องกับ อายุ ความรู้ ความกลัว โดยความกลัว และความรู้ของผู้ป่วยสามารถลดระยะเวลาก่อนการรักษาที่ล่าช้าได้ 0.4 และ 0.2 เท่า ตามลำดับ ดังนั้นการส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ ความตระหนักในความสำคัญของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

        โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นในผู้ป่วยที่มีอายุระหว่าง 50 – 70 ปี พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยพบว่าร้อยละ 57.5 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมาพบแพทย์ครั้งแรกเพื่อรับการรักษาอยู่ในระยะที่ 3 ของโรคซึ่งอาการค่อนข้างรุนแรง และร้อยละ 15 อยู่ในระยะที่ 4 ซึ่งอาการรุนแรงมากเป็นระยะสุดท้ายของโรค ความผิดปกติที่พบ เช่น การขับถ่ายอุจจาระที่เปลี่ยนไป ได้แก่ ท้องผูกสลับกับท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกหรือเลือด อุจจาระลำเล็กลง ร่วมกับอาการท้องอืด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจะมีโอกาสรักษาให้หายขาดและมีการพยากรณ์โรคดี

         วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำได้ด้วยการตรวจเม็ดเลือดแดงแฝงในอุจจาระ ซึ่งปัจจุบันมีชุดทดสอบ เรียกว่า FIT (Fecal Immunochemical Test) ที่ให้ผลความไวร้อยละ 25.0 และความจำเพาะร้อยละ 77.36 ในประชาชนที่ตรวจพบรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง

         ทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์ ได้นำร่องโครงการนี้ไปยัง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 6 แห่ง (รพ.สต.ท่าโพธิ์ ท่าทอง วัดพริก เสาหิน วังน้ำคู้ งิ้วงาม) ที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบของโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลตระหนักดีว่า การค้นพบผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มแรกจะช่วยให้เกิดผลดีต่อการรักษาและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน จึงได้จัดให้มีบริการวิชาการ ให้ความรู้และฝึกทักษะการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยใช้ชุด FIT ให้กับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุข ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในเครือข่ายทั้ง 6 แห่ง จำนวนทั้งสิ้น 200 คน จึงมั่นใจได้ว่า เมื่อมีการรณรงค์ให้ประชาชนเก็บอุจจาระเพื่อนำมาตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เราจะสามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถปกป้องประชาชนที่รักของเราให้ห่างไกลจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ ภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยก่อนวัยอันควร

              การป้องกันและลดความเสี่ยง ได้แก่ การรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ เนื้อแดง ที่ไหม้เกรียมจากการปิ้ง ย่าง รมควัน เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง ดูแลการขับถ่ายอุจจาระให้เมาะสมและหมั่นสังเกตความผิดปกติของอุจจาระ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินเกณฑ์ ออกกำลังกายเป็นประจำ และเลิกบุหรี่ร่วมด้วยครับ”

              นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 เปิดเผยว่า “การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะเน้นไปที่ประชาชนอายุ 50-70 ปี โดยปีงบประมาณ 2561  คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อนุมัติงบค่าบริการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ จำนวน 2.28 บาท  ต่อผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง วงเงิน 111 ล้านบาท เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรงให้กับผู้มีสิทธิบัตรทองทั้งประเทศ จำนวน1.3 ล้านราย  ส่วนพื้นที่เขต 2 พิษณุโลก  ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 6.4 ล้านบาท ดูแลประชาชน จำนวน73,213 ราย ทั้งนี้มุ่งหวังให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็ว ลดอัตราการป่วยโรคมะเร็งระยะลุกลาม”

     

     


    เพิ่มข้อมูลเมื่อ : 21/06/2018 14:29 น.