คณะแพทย์ มน. เปิดตัว Application “ i Heart ” สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ แอปพลิเคชันแรกของประเทศไทย



                  ศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดตัว Application “i Heart” สำหรับติดตามดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ  ระยะแรกเปิดให้ผู้ป่วยของศูนย์โรคหัวใจ 6500 คน ที่มีประวัติการรักษากับศูนย์โรคหัวใจลงทะเบียน เริ่มดาวน์โหลดได้ 29 กรกฎาคม 2561  ร่วมเฉลิมฉลองก้าวสู่ปีที่ 29 ของมหาวิทยาลัยนเรศวร

                    รองศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัญ สายะสถิตย์ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า“ศูนย์โรคหัวใจเปิดให้บริการตั้งแต่ พ.ศ.2546 เราดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจแบบครบวงจรเป็นศูนย์ระดับตติยภูมิของภาคเหนือตอนล่าง มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เราพบว่าเราดูแลผู้ป่วยได้เฉพาะตอนที่เขามาโรงพยาบาล แต่เมื่อกลับไปบ้าน เขาทำอะไรบ้าง มีปัญหาอะไร เราไม่สามารถจะตามไปดูแลได้ จึงได้คุยกันระหว่าง   สหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด ที่ทำงานร่วมกัน ว่าเรายังขาดเครื่องมือที่จะมาช่วยติดตามดูแลผู้ป่วยตอนกลับไปที่บ้าน จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมา ส่วนต่างของแอปพลิเคชันนี้ประกอบด้วยส่วนหลัก ๆ 5 ส่วน ได้แก่

                  ส่วนแรก คือ คลังความรู้ เกี่ยวกับโรคหัวใจ การดูแลตนเอง ฯลฯ เขียนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะ Up Date ตลอด และสามารถแชร์ต่อได้

                 ส่วนที่สอง คือ ตารางนัดตรวจจะสามารถตั้งเวลา มีเวลานับถอยหลังวันนัดหมาย เตือนเมื่อถึงวันและผู้ป่วยสามารถที่จะรู้ว่าก่อนที่จะมาต้องทำอะไรบ้าง เช่น งดข้าว งดน้ำ ก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาล ต้องเจาะเลือด ต้องมาเอกซเรย์ และเมื่อผู้ป่วยเข้ามาในระยะใกล้โรงพยาบาล 2 กิโลเมตร ผู้ป่วยสามารถกดยืนยันได้ว่าเขามาแล้วเพื่อให้หน้างานจองคิวตรวจ ยืนยันว่าผู้ป่วยคนนี้ที่มีนัดวันนี้มาถึงโรงพยาบาลแล้ว ทำให้สะดวก รวดเร็วขึ้น

               ส่วนที่สาม คือ เชื่อมต่อกับ Smart Watch เช่นการเต้นของหัวใจ การวัดจำนวนก้าวที่เดิน มาใช้ประโยชน์

              ส่วนที่สี่ คือ การกินยา ผู้ป่วยจะทราบว่ากินยาอะไรบ้าง มีการแจ้เตือนเมื่อถึงเวลากินยา เมื่อกินแล้วสามารถกดที่โทรศัพท์ได้เครื่องจะบันทึกว่ากินแล้ว เหตุผลเพราะว่าบางคนกินยาแล้วลืมอาจทำให้กินยาซ้ำ ซึ่งประโยชน์ต่อแพทย์ด้วยว่าผู้ป่วยลืมกินยากี่ครั้ง กินครบไหม

             ส่วนที่ห้า คือ เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินมีปุ่มกดฉุกเฉินที่เชื่อมต่อโทรออกไปที่ 1669 ตามรถพยาบาลฉุกเฉินมารับ และกรณีที่ต้องการไปโรงพยาบาลที่มีศูนย์โรคหัวใจใกล้บ้านก็มี Google Map ระบุศูนย์โรคหัวใจทั่วประเทศสามารถนำทางไปได้

    ในระยะแรกเริ่มต้น เราเน้นที่ผู้ป่วยโรคหัวใจของศูนย์โรคหัวใจภาคเหนือตอนล่างประมาณ 6,500 คน โดยผู้ป่วยต้องมีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนจะเป็นทั้ง IOS หรือ Android ทำการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นนี้มาไว้ที่โทรศัพท์ แล้วมาลงทะเบียนที่ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ทางศูนย์ก็จะให้รหัสผ่าน หลังจากนั้นคนไข้ก็จะเริ่มใช้งานได้    ส่วนในด้านความปลอดภัยของข้อมูลจะถูกเก็บไว้ในระบบที่ปลอดภัยเป็นความลับของผู้ป่วย  ผู้ที่จะเข้าดูข้อมูลคือเจ้าหน้าที่ผู้ที่ได้รับการลงทะเบียนเท่านั้น

    จุดประสงค์สำคัญ คือ ไม่อยากให้ผู้ป่วยมีอันตรายเมื่อกลับไปบ้านสำหรับแพทย์เจ้าของไข้ จะได้มีข้อมูลที่ใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันผู้ป่วยมากที่สุดสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ป่วยทำตามคำแนะนำที่เราหรือไม่ ตรงไหนเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุงทำให้แพทย์และผู้ป่วยสามารถร่วมกันวางแผนการดูแลรักษาร่วมกับสหสาชาวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากที่สุดครับ” รศ.นพ.จรัญ  สายะสถิตย์ กล่าว

     

    หากท่านใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คลินิกโรคหัวใจโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร หมายเลขโทรศัพท์ 0 5596-5493 และ 0 5596 5196 หรือ www.med.nu.ac.th


    เพิ่มข้อมูลเมื่อ : 25/07/2018 17:23 น.