เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ และ รศ.พญ.รสสุคนธ์ คชรัตน์ รองคณบดีฝ่ายการแพทย์ พร้อมด้วยทีมงาน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เข้ารับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการระดับดี โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2561 ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี
รางวัลเลิศรัฐ ถือว่าเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศ ที่แสดงถึงความเป็นเลิศของหน่วยงานภาครัฐในการทำงานเพื่อบริการ และสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในด้านต่างๆ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จะมีการมอบรางวัลเลิศรัฐ ให้กับหน่วยงานภาครัฐที่มีผลงานโดดเด่นและผ่านเกณฑ์การพิจารณาเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้มีผลงานที่ส่งเข้ารับการพิจารณาในสาขาบริการภาครัฐ ทั้งหมด 336 ผลงานจากทั่วประเทศ และมีเพียง 186 ผลงานเท่านั้นที่ได้รับรางวัล ซึ่งภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ก็ได้คว้ารางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการระดับดีจากผลการดำเนินงานของเครือข่ายดวงตาเชิงรุก สำหรับผู้ป่วยภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งนับว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ของ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐจากการดำเนินงานในส่วนต่างของคณะ และโรงพยาบาลเครือข่ายดวงตาเชิงรุก สำหรับผู้ป่วยภาคเหนือตอนล่าง เกิดขึ้นเพื่อพยายามแก้ไขปัญหาขาดแคลนผู้บริจาคดวงตา เพื่อใช้ในการปลูกถ่ายรักษาผู้ป่วยโรคกระจกตาพิการต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ซึ่ง รพ.มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็น รพ.แห่งเดียวเท่านั้นในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างที่สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาได้ จึงได้มีการดำเนินงานเครือข่ายดวงตาเชิงรุกอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนผู้บริจาคดวงตา และช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและมีตัวเลขผู้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเพิ่มมากขึ้น โดยดำเนินงานผ่าน 3 แนวทางการแก้ปัญหา คือ
1.พัฒนารูปแบบการจัดเก็บดวงตาแบบรวมศูนย์ โดยทุกโรงพยาบาลในเขตภาคเหนือตอนล่าง และโรงพยาบาลจังหวัดรอยต่อในเขต 3 (พิจิตร กำแพงเพชร) จัดทีมเจรจา จัดเก็บดวงตา รวมถึงการวางแผนระบบเจ้าหน้าที่เพื่ออยู่เวรทดแทนกัน เพิ่มโอกาสในการได้ดวงตามากขึ้น
2. ริเริ่มแนวคิดการใช้ประโยชน์จากกระจกตาอีกข้างหนึ่งของผู้รับบริจาคที่เป็นโรคเดียวกัน และไม่ส่งตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาลดการสูญเสียเนื้อเยื่อกระจกตานั้นทิ้งไป เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อ ซึ่งวิธีนี้ยังไม่เคยมีเครือข่ายใดบริหารจัดการเช่นนี้
3. มีการฝึกฝน และพัฒนาการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาแบบแยกชั้น หรือบางชั้น เพื่อทดแทนความขาดแคลนผู้บริจาคดวงตาของประเทศไทย โดยมีการไปอบรมเทคนิคการผ่าตัดจากทั้งใน และต่างประเทศ ทำให้กระจกตาของผู้บริจาค 1 ราย สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยโรคกระจกตาตามระดับชั้นได้มากกว่า 1 ราย
ซึ่งทั้ง 3 แนวทางถูกดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ตัวเลขผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายกระจกตาเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยในปี พ.ศ. 2558 มีผู้ได้รับการผ่าตัด จำนวน 11 ราย , ปี 2559 จำนวน 18 ราย และเพิ่มเป็นจำนวน 30 รายในปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา รวมถึงยังส่งผลดีในด้านการลดระยะการรอคอยดวงตาเพื่อผ่าตัดของผู้ป่วย และการใช้ประโยชน์จากกระจกตาอย่างคุ้มค่าที่สุดด้วย โดยนอกจากนี้ภาควิชาจักษุวิทยายังวางแผนที่จะขยายรูปแบบการดำเนินงานในลักษณะนี้ เพื่อเป็นต้นแบบต่อไปให้กับโรงพยาบาล และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคกระจกตาพิการต่างๆ ในภาพรวมให้ได้มากที่สุด
ข่าว/ภาพ : วราชัย ชูสิงห์
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร