เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 เวลา 09.00 น. นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ให้เกียรติเป็นประธานในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Smart City Thailand Road Show” จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Promotion Agency หรือ depa) ณ โรงแรมเดอะปาร์ค โฮเทล จังหวัดพิษณุโลก โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในเขตภาคเหนือเข้าร่วมกว่า 200 คน
ในการนี้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมนำเสนอ NU Smart Wellness Center ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ NU Smart City ของมหาวิทยาลัยนเรศวร และเป็น 1 ใน 7 ด้าน ของการเป็น Smart City คือด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) ตามนโยบายการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะของประเทศ ต่อนายภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีประเด็นนำเสนอ คือการสร้างต้นแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ และการสนับสนุนผู้รักการออกกำลังกายด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬา เมื่อต้นแบบนี้สำเร็จจะนำไปต่อยอดในโครงการศูนย์กลาง การให้บริการสุขภาพ และดูแลผู้สูงอายุเขตพื้นที่ ภาคเหนือตอนล่าง เพื่อประชาชนในภาพรวมทั้งประเทศต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้
การพัฒนาเมืองโดยหลักการพัฒนาเมืองอัจฉริยะคือการบริหารจัดการ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความยั่งยืน ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาให้เมืองน่าอยู่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างสมดุล แบ่งออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่
1.เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ สร้างให้เกิดความเชื่อมโยงและความร่วมมือทางธุรกิจ และประยุกต์ใช้นวัตกรรม ในการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจ (เช่น เมืองเกษตรอัจฉริยะ เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เป็นต้น)
2.การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มความสะดวก ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3.พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเมือง หรือใช้พลังงานทางเลือกอันเป็นพลังงานสะอาด (Renewable Energy) เช่น เชื้อเพลงชีวมวล ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และไฟฟ้าจากพลังงานอื่นๆ เป็นต้น
4.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการบริหารจัดการ และติดตามเฝ้าระวัง สิ่งแวดล้อมและสภาวะแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการน้ำ การดูแลสภาพอากาศ การเฝ้าระวังภัยพิบัติตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
5.พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้นอกระบบ รวมถึงการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายทางสังคม
6.การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นให้บริการที่อำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิต เช่น การบริการด้านสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุ การเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนด้วยการเฝ้าระวังภัยจากอาชญากรรม ไปจนถึงการส่งเสริมให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการดำรงชีวิตที่เหมาะสม
7.การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาระบบบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐสะดวก รวดเร็ว เพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้
คณะแพทยศาสตร์ มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตภาคเหนือตอนล่าง และประชาชนทั่วไป ให้มีสุขภาพที่ดีและมีความสุข รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการสร้างบัณฑิตแพทย์เพื่อตอบสนองการขาดแคลนแพทย์ของประเทศไทยต่อไป ด้วยวิสัยทัศน์ “โรงเรียนแพทย์ที่ใช้นวัตกรรม สร้างผู้นำด้านระบบสุขภาพ”