มหาวิทยาลัยนเรศวรเดินเครื่องระบบบำบัดน้ำเสียจากชุมชน ร่วมกับน้ำเสียของมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อคลองหนองเหล็กใสสะอาดอย่างยั่งยืน



          ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานกล่าวเปิดงานพิธีเปิดระบบการบำบัดน้ำเสียชุมชนร่วมกับน้ำเสียของมหาวิทยาลัยนเรศวร ณ บริเวณสถานีสูบน้ำเสียชุมชนจุดที่ 9 ด้านข้างประตู 6  เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 เวลา 10.00 น. โดยมีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์  กล่าวรายงาน ความเป็นมาของโครงการ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์  ผู้ช่วยอธิการบดี กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ ในการนี้ได้รับเกียรติจากหน่วยงานภาครัฐ ประชาชน  ผู้ประกอบการหอพักเอกชน ร้านค้า โดยรอบมหาวิทยาลัยร่วมเป็นสักขีพยาน

       เนื่องจากมหาวิทยาลัยนเรศวร มีนิสิตและบุคลากร ประมาณ 25,000 คน มีความต้องการใช้น้ำประปาในกิจกรรมต่าง ๆ  ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเสียประมาณ 4,100 ลูกบาศก์เมตร  มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของมหาวิทยาลัยเป็นระบบ Activated Sludge Process หรือแบบตะกอนเร่ง ซึ่งเป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางชีวภาพ โดยอาศัยจุลชีพที่ใช้อากาศในการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่ปนมากับน้ำ  โดยในการทำงานของระบบจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

        1.ระบบรวบรวมน้ำเสีย ซึ่งจะรวบรวมน้ำเสียของทุกอาคารภายในมหาวิทยาลัย มีสถานีสูบน้ำเสีย จำนวน 8 จุด ส่งเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง 2. ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง จะทำหน้าที่รับน้ำเสียจากระบบรวบรวมน้ำเสียภายในมหาวิทยาลัยมาบำบัดโดยผ่านบ่อบำบัดต่างๆ ตามกระบวนการบำบัดตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม จนสิ้นสุดกระบวนการที่บ่อน้ำใส (Effluent Tank) ซึ่งจะนำน้ำใสกลับมาใช้ใหม่ได้ 3 ทาง คือ ปล่อยกลับลงสู่สระน้ำภายในมหาวิทยาลัย ปล่อยกลับมายังสถานีสูบน้ำเสียชุมชน เพื่อช่วยเจือจางน้ำเสียชุมชน และปล่อยลงสู่คลองหนองเหล็ก 

         นอกจากการบำบัดน้ำเสียในมหาวิทยาลัยแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้ผันน้ำเสียจากชุมชนด้วยวิธีการสูบน้ำเข้ามาผ่านระบบบำบัดในกระบวนการเดียวกัน ซึ่งจะสามารถบำบัดน้ำเสียของชุมชนได้ไม่เกิน 1,200 ลูกบาศก์เมตร ต่อวัน โดยในช่วงแรกของกระบวนการนำน้ำเสียมาบำบัดนี้ ทางมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้ไฟในการสูบน้ำเข้ามาในมหาวิทยาลัย และในอนาคตอันใกล้นี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์จะเป็นหน่วยงานจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียของชุมชนต่อไป

        ประโยชน์ที่จะได้รับจากระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐานของมหาวิทยาลัย คือ สร้างความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่ ลดข้อพิพาทระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชน ที่เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นสาเหตุที่ทำให้คลองหนองเหล็กเสื่อมโทรม แท้จริงแล้วการที่คลองหนองเหล็กเสื่อมโทรมนั้นเกิดจากการที่ต้องรับน้ำเสียที่ไม่ได้บำบัดจากชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ประชาชนที่อยู่อาศัยริมคลองหนองเหล็กจะสามารถใช้น้ำสำหรับการดำเนินวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ต่อไป เพราะน้ำที่ปล่อยสู่คลองหนองเหล็กจะผ่านระบบบำบัดที่ได้มาตรฐาน มหาวิทยาลัยนเรศวร ประชาชนและชุมชนโดยรอบ จะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะได้มีความร่วมมือและช่วยเหลือกันในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ฟื้นฟูคลองหนองเหล็กแก้ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน


    เพิ่มข้อมูลเมื่อ : 02/09/2019 16:52 น.